โจทก์ฟ้องว่า จำเลยรับฝากเก็บรักษาสินค้าที่ส่งทางทะเลเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อบำเหน็จตอบแทนเป็นปกติในทางการค้าเพื่อพิธีการทางศุลกากรแต่ผู้เดียว จำเลยได้ตกลงเก็บรักษาสินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้โดยคิดค่าบำเหน็จตามอัตราที่จำเลยกำหนดต่อมาเพลิงไหม้คลังสินค้าเป็นเหตุให้สินค้าเสียหาย โดยจำเลยไม่ใช้ความระมัดระวังและฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้และสมควรจะต้องใช้ โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนให้เจ้าของสินค้าไปแล้ว5,046,931 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ จำเลยให้การว่า จำเลยไม่มีวัตถุประสงค์รับฝากสินค้าไว้ในโรงพักสินค้าเพื่อบำเหน็จตอบแทนเป็นปกติในทางการค้าแต่เพื่อประโยชน์ในการเสียค่าระวางเรือและเสียภาษีศุลกากรเท่านั้นเพลิงไหม้เพราะอุบัติเหตุและเป็นเหตุสุดวิสัย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "แม้จำเลยจะเป็นผู้รับทำการเก็บรักษาสินค้าก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อสินค้ามาจากต่างประเทศโดยทางเรือจำเลยจะเก็บสินค้าดังกล่าวไว้ที่โรงพักสินค้า โดยถ้าสินค้าเก็บไว้ไม่เกิน 3 วัน จำเลยจะไม่เรียกค่าธรรมเนียมถ้าเจ้าของสินค้าไม่มารับสินค้าภายใน 3 วัน จำเลยจะคิดค่าธรรมเนียมเป็นรายวันและคิดเพิ่มขึ้นทุกวันทั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งให้เจ้าของสินค้านำสินค้าออกไป การที่จำเลยรับฝากสินค้าจึงเพียงเพื่อให้เจ้าของสินค้าไปดำเนินพิธีการทางศุลกากร มิใช่รับฝากจากบุคคลทั่วไปโดยเก็บรักษาสินค้าเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของจำเลยจำเลยจึงไม่ใช่นายคลังสินค้าตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 770 จะนำมาตรา 772 ประกอบด้วยมาตรา 616 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่จำเลยหาได้ไม่ ฎีกาข้อต่อไปของโจทก์มีว่า การรับฝากทรัพย์รายนี้มีบำเหน็จแต่จำเลยผู้รับฝากไม่ได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 659 วรรคสอง และวรรคสามทำให้สินค้าที่โจทก์รับประกันภัยไว้ต้องถูกไฟไหม้เสียหาย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น โจทก์นำสืบร้อยตำรวจเอกธานินทร์ อมาตยกุลซึ่งรับราชการอยู่ที่กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจว่า ได้ไปตรวจที่เกิดเหตุสันนิษฐานว่าเพลิงไหม้เกิดจากความสะเพร่าของบุคคลที่ทิ้งวัตถุที่มีไฟติดอยู่เช่น ก้นบุหรี่ เห็นว่า ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวก็ไม่ได้ความชัดแจ้งว่าเพลิงไหม้เกิดจากเหตุใดแน่ การที่จะวินิจฉัยว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่จึงต้องพิจารณาจากการกระทำของจำเลยว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพียงพอในการป้องกันและรักษาทรัพย์สินรายนี้ให้พ้นจากการเกิดเพลิงไหม้หรือไม่ ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบเรื่องนี้ส่วนจำเลยนำสืบนายชาญ พินิจประภา ว่า จำเลยมีคำสั่งห้ามสูบบุหรี่ในโรงพักสินค้าเด็ดขาด ในวันเกิดเหตุมีเวรยามเฝ้าโรงพักสินค้า นายฉลวย โตสวัสดิ์ ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกโรงพักสินค้าที่เกิดเหตุพยานจำเลยเบิกความว่าหากมีผู้สูบบุหรี่ในโรงพักสินค้า ถ้าผู้สูบเป็นพนักงานของจำเลยจะถูกลงโทษทางวินัยถ้าเป็นบุคคลภายนอกทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจะจับตัวส่งตำรวจ ผู้ที่จะเข้าไปในโรงพักสินค้าจะต้องมีบัตรอนุญาตและเอกสารเพื่อแสดงเกี่ยวกับการมารับสินค้า เห็นว่า คำเบิกความของพยานจำเลยดังกล่าวข้างต้นไม่มีข้อพิรุธทั้งโจทก์มิได้นำสืบเป็นอย่างอื่น แม้เหตุที่เกิดเพลิงไหม้ยังไม่ทราบแน่ชัดแต่ก็ไม่ได้ความว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานของจำเลยนายเกรียงศักดิ์ ศรีสุข พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยเบิกความว่า พยานมีหน้าที่ตรวจโรงพักสินค้าที่เกิดเหตุด้วยโดยในวันเกิดเหตุเห็นเพลิงไหม้โรงพักสินค้าดังกล่าว จึงได้เป่านกหวีดและส่งวิทยุถึงศูนย์รักษาความปลอดภัย ต่อมาประมาณ 10 นาทีรถดับเพลิงและพนักงานรักษาความปลอดภัยอื่น ๆ ก็มาถึงที่เกิดเหตุเห็นว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้น ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่โจทก์อ้างดังกล่าวข้างต้นแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไปที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน