ความว่า นายทองผู้ตายถูกจำเลยจับควบคุมมาระหว่างควบคุมนายทองได้หลบหนีไป จำเลยที่ 1 ที่ 3 และพลฯ บุญมาได้ออกติดตามพบนายทองกำลังวิ่งหนี จำเลยบอกให้หยุด ก็ไม่หยุด จำเลยที่ 1 ร้องบอกขึ้นว่า "ยิง ๆ " จำเลยที่ 3 และพลฯ บุญมา จึงใช้ปืนยิงไปคนละ 2 นัด ในระยะห่างกัน 10 วากระสุนถูกนายทองถึงแก่ความตายในทันใดนั้นเอง โจทก์จึงมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ร้องว่ายิง ๆ เพื่อขู่ให้นายทองกลัว นายทองไม่หยุดจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ยิง จำเลยที่ 3 ให้การว่าได้ยิงนายทองมิได้มีเจตนาให้ตาย หมายยิงตามแข้งขา เพื่อไม่ให้หลบหนี และจำเลยที่ 3 สู้ว่า จำเลยได้ทำไปตามคำสั่งโดยเชื่อว่าเป็นคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีผิดตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 249, 64 ให้จำคุก 20 ปี จำเลยที่ 3 มีผิดตามมาตรา 249 จำคุก 15 ปี ลดฐานคำรับของจำเลยมีประโยชน์แก่ทางพิจารณา คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 13 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 3 มีกำหนด 10 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์แก้เฉพาะบทลงโทษจำเลยที่ 1 เป็นว่ามาตรา 249, 63 นอกจากแก้คงยืน
จำเลยที่ 1, 3 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 สั่งให้ยิงนายทองผู้ต้องหานี้นั้น นายทองต้องหาฐานหมิ่นประมาท ขัดขวางต่อสู้ทำร้ายเจ้าพนักงานอันเป็นเรื่องเล็กน้อย นายทองก็เป็นคนมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง กับขณะนั้นนายทองก็ไม่มีอาวุธอะไร และไม่มีท่าทีจะต่อสู้อย่างไรด้วย กรณีที่ไม่มีความจำเป็นและสมควรถึงกับจำเลยที่ 1 จะสั่งให้ยิง จำเลยที่ 3 จะอ้างว่าทำตามคำสั่งโดยเชื่อว่าเป็นการชอบด้วยเหตุผลอันสมควรไม่ได้ จำเลยที่ 3จึงไม่มีทางแก้ตัวให้พ้นผิด
สำหรับการชันสูตรพลิกศพนั้น ตามกฎหมายเมื่อกรรมการที่ชันสูตรพลิกศพเห็นว่าไม่จำเป็น จะไม่ขุดศพขึ้นดูก็ได้ เรื่องนี้กรรมการได้สอบสวนผู้ชันสูตรเดิมและพยานอื่น ๆ จนเป็นที่พอใจแล้วคงเห็นไม่จำเป็น จึงไม่ขุดศพขึ้นมาดูอีก การชันสูตรพลิกศพรายนี้ย่อมสมบูรณ์
พิพากษายืน