โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันปลอมพินัยกรรมหนึ่งฉบับ ต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ใช้พินัยกรรมปลอมดังกล่าว โดยนำไปแสดงต่อศาลแพ่งเพื่อเป็นพยานหลักฐานในคดีฟ้องถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกจำเลยที่ 1 ได้เบิกความเป็นพยานต่อศาลในคดีดังกล่าวว่านางพูลสุขได้ทำพินัยกรรมไว้ และจำเลยที่ 2 ได้เบิกความในคดีเดียวกันว่าเป็นผู้พานางพูลสุขไปทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ซึ่งเป็นความเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดี ความจริงนางพูลสุขมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 160, 161, 162, 177, 180, 264, 266, 268, 83, 90 และ 91
โจทก์ได้ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูลประทับฟ้องเฉพาะข้อหาความผิดฐานใช้เอกสารพินัยกรรมปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าพินัยกรรมพิพาทโจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่าเป็นพินัยกรรมที่นางพูลสุขทำไว้และมีผลสมบูรณ์บังคับได้ตามกฎหมาย มิใช่พินัยกรรมปลอม คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวผูกพันโจทก์จำเลยในคดีนี้ด้วย ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสองนำเอกสารดังกล่าวไปใช้จึงมิใช่ใช้เอกสารปลอม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและพิพากษาใหม่
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้คำพิพากษาศาลฎีกาในคดีของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 7426/2518 และคดีหมายเลขแดงที่ 117/2510 จะผูกพันโจทก์จำเลยคดีนี้ ซึ่งเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีแพ่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ก็ดี ก็เป็นการผูกพันเฉพาะในทางแพ่งเท่านั้น แต่คดีนี้เป็นคดีอาญา ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายฉบับใดให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ทั้งนี้เพราะหลักการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักคำพยานในคดีแพ่งและคดีอาญาไม่เหมือนกัน กล่าวคือในคดีแพ่ง ศาลจะชั่งน้ำหนักคำพยานว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่ากัน แต่ในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนแน่ใจว่าพยานโจทก์พอรับฟังลงโทษจำเลยได้หรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227ฉะนั้น คำพิพากษาฎีกาในคดีของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ 7426/2518และคดีหมายเลขแดงที่ 117/2510 จึงเป็นเพียงพยานหลักฐานที่ศาลจะนำมาชั่งน้ำหนักประกอบกับคำพยานหลักฐานของโจทก์ในคดีนี้ว่า ข้อเท็จจริงมีน้ำหนักพอรับฟังว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่เท่านั้น ศาลจะรับฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งดังกล่าวเพียงอย่างเดียวมาวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้โดยมิได้สืบพยานโจทก์จำเลยให้สิ้นกระแสความเสียก่อนจึงเป็นการไม่ชอบ
พิพากษายืน