คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร ๒๔๙๐ มาตรา ๘, ๑๗ และ ๑๘ รวมกะทงลงโทษปรับ ๕๐ บาท ลดฐานปราณีกึ่งหนึ่ง คงปรับ ๒๕ บาท กับให้จำเลยเสียค่าสินบลแก่ผู้นำจับตาม พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓๐ อีก ๑๐๐ บาท คำขอที่ขอให้จ่ายสินบลและรางวัลตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด ๒๔๙๘ นั้นให้ยกเสียเพราะถูก พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควรทับเสีย
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จ่ายค่าสินบลและรางวัลตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. ๒๔๘๙
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้ค่าสินบลตาม พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร ๒๔๙๐ นั้น โจทก์มิได้ขอมาจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ทั้งมาตรานี้มิได้ให้อำนาจอัยการที่จะร้องขอได้ แม้จำเลยมิได้อุทธณ์ขึ้นมาศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจพิพากษาแก้ได้ จึงพิพากษาแก้ให้จ่ายรางวัลร้อยละ ๒๕ ของค่าปรับให้แก่เจ้าพนักงานผู้จับตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด ๒๔๘๙ ค่าสินบลไม่ต้องเสีย
โจทก์ฎีกาให้จ่ายสินบลตาม พ.ร.บ. ให้บำเหน็จฯ
ศาลฎีกาเห็นว่าพ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. ๒๔๙๐ บัญญัติทับเรื่องเงินสินบลใน พ.ร.บ.ให้บำเหน็จฯ เสียแล้ว (ฎีกาที่ ๑๐๔๓/๒๔๙๒) และเงินสินบลตามมาตรา ๓๐ พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควรนั้น พนักงานอัยการไม่มีสิทธิที่จะขอให้แทนผู้รับสินบล แม้ศาลชั้นต้นจะให้มาโดยโจทก์มิได้ขอและจำเลยมิได้อุทธรณ์ในข้อนี้ ศาลอุทธรณ์ก็ย่อมมีอำนาจจะยกขึ้นอ้างและพิพากษาแก้ไขให้เป็นผลดีแก่จำเลยได้ตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๑๙๕ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
จึงพิพากษายืน