โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นองค์การของรัฐบาลและเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายนายทวี อัศวนนท์ เป็นผู้ว่าการ ได้มอบอำนาจให้นายเบอร์ พรประสิทธิ์ ผู้อำนวยการไฟฟ้าภาคกลางเขต 5 ดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์มีหน้าที่ดูแลควบคุมการจำหน่ายสินค้าตลอดจนควบคุมรายรับ รายจ่าย และเรียกเก็บเงินตามระเบียบ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตยักยอกสินค้าในร้านไปใช้หรือจำหน่ายคิดเป็นเงิน 23,030 บาทตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ จำหน่ายสินค้าให้ลูกค้าผ่อนส่งโดยไม่ทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อตามระเบียบเป็นเหตุให้โจทก์เรียกเก็บเงินจากลูกหนี้ผู้เช่าซื้อไม่ได้ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้ยักยอกเงินที่ลูกค้าชำระราคาสินค้าไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 61,797 บาท โจทก์ทราบการกระทำของจำเลยที่ 1 ประมาณเดือนมกราคม 2514 ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองนำเงินค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 กระทำไว้มาชำระแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่าปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต สิ่งของตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 จำเลยไม่เคยรับไว้ เว้นแต่ตามรายการหมายเลข 3.15, 3.16, 3.17ซึ่งจำเลยเก็บรักษาไว้ ณ ที่ทำการไฟฟ้าจังหวัดราชบุรี จำเลยไม่ต้องรับผิดชอบส่วนสิ่งของตามรายการอื่นปัจจุบันก็อยู่ในความครอบครองของโจทก์ ณ ที่ทำการไฟฟ้าจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดราชบุรี สิ่งของตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 4 จำเลยขายให้แก่ผู้ซื้อโดยมีสัญญาเช่าซื้อและใบรับของจากผู้เช่าซื้อทุกรายการ จำเลยขายไปตามหน้าที่ถูกต้องตามระเบียบ จำเลยไม่ต้องรับผิดคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ระหว่างที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดให้โจทก์เสียหายนั้น สัญญาค้ำประกันสิ้นสุดลงแล้วโดยโจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1เปลี่ยนตัวผู้ค้ำประกันจากจำเลยที่ 2 ไปเป็นนายอินทร์ เจริญพงศ์ จำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิด หากสัญญาค้ำประกันมีผลผูกพันจำเลยก็มีผลเพียง 1,000 บาท หนี้ในสัญญาค้ำประกันเป็นหนี้ในอนาคตมีเงื่อนไขและไม่แน่นอน ไม่ใช่หนี้อันสมบูรณ์อันจะทำสัญญาค้ำประกันกันได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งร้านค้า ไม่มีอำนาจฟ้องแทนร้านค้า เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำผิด โจทก์ไม่แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบ ทั้งยังผ่อนเวลาให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรม นายสงวน สีมันตร และนางสาวพรสวรรค์ สีมันตร ยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีแทน จำเลยที่ 1 ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง คดีไม่ขาดอายุความสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องสมบูรณ์ตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในราคาสินค้าที่ขาดบัญชีไปบางรายการ ตามเอกสารหมายเลข 3 ท้ายฟ้องและรับผิดในจำนวนหนี้บางรายการตามเอกสารหมายเลข 4 ท้ายฟ้องรวมเป็นเงิน 44,595 บาท พิพากษาให้จำเลยใช้เงินจำนวนนี้พร้อมทั้งดอกเบี้ย ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ให้ผู้รับมรดกความในฐานะเป็นทายาทของจำเลยที่ 2 ใช้แทน
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ควรรับผิดเพียง 43,845 บาท เท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 2 แม้ไม่อุทธรณ์ตามลักษณะของคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จำเลยที่ 2 จึงได้รับผลเป็นคุณด้วย พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 43,845 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่โจทก์ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ใช้ให้จำเลยที่ 2 ใช้แทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องหมายเลข 1 เป็นสัญญาตัวการตัวแทน เป็นนิติกรรมสองฝ่าย เมื่อผู้รับมอบอำนาจซึ่งเป็นตัวแทนไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญา แต่มาลงชื่อในใบแต่งทนายฟ้องคดี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 มิได้ให้การต่อสู้ไว้แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรรับวินิจฉัยให้ และเห็นว่านายทวี อัศวนนท์ เป็นผู้ว่าการมีอำนาจเป็นผู้กระทำการในนามของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกและเป็นผู้กระทำการแทนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และเพื่อการนี้นายทวี อัศวนนท์ จะมอบอำนาจให้บุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ตามความในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคพ.ศ. 2503 ตามหนังสือมอบอำนาจความว่า นายทวี อัศวนนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแต่งตั้งนายเบอร์ พรประสิทธิ์ เป็นตัวแทนมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อดำเนินคดีนี้ ถือได้ว่านายทวี อัศวนนท์ ผู้ว่าการมอบอำนาจให้นายเบอร์ พรประสิทธิ์ ปฏิบัติกิจการเฉพาะอย่างแทนตามความในมาตรา 30 ดังกล่าว หาใช่เรื่องแต่งตั้งตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ นายเบอร์ พรประสิทธิ์ จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ ส่วนสิ่งของรวม 2 รายการเป็นเงิน 43,845 บาทเป็นสิ่งของที่มีอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 และขาดบัญชีไปจำนวนหนึ่ง และเป็นสิ่งของที่จำเลยที่ 1 ให้ผู้อื่นเช่าซื้อไปแล้วไม่ทำสัญญาเช่าซื้อไว้ เป็นเหตุให้โจทก์เรียกเก็บเงินจากลูกหนี้เช่าซื้อไม่ได้อีกจำนวนหนึ่ง ปัญหาที่ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่นั้น เห็นว่าสิ่งของที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 มีหลายอย่าง ของที่ขาดหายไปยังไม่อาจทราบได้ว่าอะไรขาดหายไปบ้าง และใครบ้างเป็นผู้รับผิดชอบ โจทก์จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนเพื่อรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คณะกรรมการทำการสอบสวนแล้วรายงานให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2514 ดังนั้น การนับอายุความละเมิดในคดีนี้จึงต้องถือเอาวันที่โจทก์รับทราบผลการสอบสวนเป็นวันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน คือวันที่ 27 มกราคม 2514 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2514 คดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ การนับอายุความละเมิดในกรณีนี้มิใช่นับแต่วันที่โจทก์มีคำสั่งให้พักจำเลยที่ 1
พิพากษายืน