โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าถือเอาที่ดินซึ่งทางราชการได้สงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน ให้ประชาชนล่ามเลี้ยงสัตว์พาหนะอยู่ในความดูแลรักษาของนายสืบ นายอำเภอเมืองยะลา และนายแปลกเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอเมืองยะลาและจำเลยได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าว ซึ่งสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาสิณและสิ่งปลูกสร้างในที่นี้ออกเสียแล้วจำเลยขัดขืน ขอให้ลงโทษตาม ก.ม. อาญา ม. ๓๒๗,๓๓๔(๒),๗๑
จำเลยต่อสู้ว่าที่พิพาทไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินจำเลยปกครองถือกรรมสิทธิมาด้วยความสงบและเปิดเผยประมาณ ๓๐ ปีแล้ว
ศาลจังหวัดยะลาเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ก.ม. อาญา ม. ๓๒๗ คงผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานอย่างเดียว พิพากษาว่าจำเลยผิดตาม ก.ม.อาญา ม. ๓๓๔ (๒) ให้จำคุก ๑๐ วัน ปรับ ๕๐ บาท ข้อหาฐานบุกรุกให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเมื่อนายอำเภอออกคำสั่งให้จำเลยออกนั้นเป็นเวลาภายหลังวันใช้ พ.ร.บ.ระเบียบราชการบริหารแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ ม.๓๗ (๗) เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด จะคุ้มครองดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และตามฟ้องของโจทก์ก็มิได้บรรยายว่านายอำเภอได้สั่งแก่จำเลยตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดตาม ม. ๔๓ นายอำเภอจึงไม่มีอำนาจสั่งได้โดยลำพังตนเอง จำเลยจึงไม่ผิดตาม ก.ม. อาญา ม. ๓๓๔ (๒) พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ให้ปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไป
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าที่สาธารณประโยชน์นี้เดิมเป็นอำนาจหน้าที่กรมการอำเภอที่จะตรวจตรารักษาตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๗ ม.๑๒๒ ต่อมาอำนาจและหน้าที่นี้ได้โอนมาเป็นอำนาจและหน้าที่ของนายอำเภอโดยพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๙๕ ม.๔๐ วรรค ๓ ส่วน ม. ๓๗ (๗) นั้นเป็นบทบัญญัติวางอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดให้คุ้มครองดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดินเหนืออำนาจหน้าที่ของนายอำเภอขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง ไม่มีข้อความแห่งใดในพ.ร.บ.นี้ที่จะแสดงให้เห็นว่า พ.ร.บ.นี้มีเจตนารมย์ที่จะยกเลิกเพิกถอนอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอ นายอำเภอคงมีอำนาจหน้าที่ในราชการส่วนนี้อยู่ตามเดิม จำเลยจึงมีความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานตาม ก.ม. อาญา ม. ๓๓๔ (๒)
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลจังหวัดยะลา