ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจับกุมและการพิสูจน์ข้อเท็จจริง: เหตุอันควรเชื่อและขอบเขตการวินิจฉัยของศาล
ศาลชั้นต้นฟังว่า "ฯลฯ ขณะจับก็ยังพบ (โจทก์) คาดเข็มขัดตำรวจและมีนาฬิกาข้อมือที่ตามวิทยุว่าถูกลักมาอยู่ด้วย ดังนี้ โจทก์ย่อมจะต้องถูกจับอยู่เองเป็นธรรมดา" ดังนี้ แม้นาฬิกาที่จับได้จากโจทก์เป็นยี่ห้อวิลน่าส่วนตามวิทยุสั่งจับนั้นเป็นยี่ห้อฮอนซ่าก็ตามก็เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นเพียงแต่ฟังว่า จำเลยพบโจทก์มีนาฬิกาข้อมือตรงกับที่วิทยุว่านาฬิกาข้อมือเป็นของที่ถูกลัก อันเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นประกอบข้อพิรุธอื่นๆ ของโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์เป็นพลตำรวจสำเริงซึ่งต้องหาว่าลักนาฬิกาข้อมือเท่านั้น ศาลชั้นต้นมิได้ฟังเลยไปถึงว่านาฬิกาที่โจทก์ใส่อยู่นั้นเป็นของร้าน อันเป็นของกลางที่จับได้จากโจทก์อย่างใดหาเป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนไม่
จำเลยเข้าใจว่า คำสั่งของร้อยตำรวจเอกสุรพลผู้ทำการแทนผู้กำกับที่สั่งให้จำเลยไปจับกุมโจทก์นั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้วิทยุสั่งจับมิได้มีข้อความแสดงว่าได้ออกหมายจับแล้ว กรณีก็ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70 จำเลยไม่ต้องรับโทษ(อ้างฎีกาที่ 1135/2508)
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า "ฯลฯ ในเรื่องสาเหตุจำเลยที่ 2 ก็สามารถนำนางสาวน้อยหรือแมวมาเบิกความแสดงความบริสุทธิ์ได้อีกว่า แท้จริงจำเลยกับนางสาวน้อยหรือแมวไม่ได้เคยรู้จักกันเลย ฯลฯ" ดังนี้ เมื่อนางสาวน้อยหรือแมวซึ่งจำเลยนำสืบเบิกความว่าไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน คดีจึงมีคำพยานสนับสนุนให้ศาลชั้นต้นฟังว่านางสาวแมวไม่รู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน ไม่เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวน