ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาประนีประนอมยอมความต้องทำเป็นสัญญาเพื่อให้มีผลผูกพัน มิใช่แค่บันทึกตกลงเบื้องต้น
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่เช่าจำเลยให้การว่าหลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าแล้วจำเลยได้ตั้งตัวแทนไปตกลงกับโจทก์ โจทก์ตกลงจะให้ค่าขนย้ายแก่จำเลย 10,000 บาท และยินยอมให้จำเลยอยู่ในที่เช่าอีก 4 เดือนนับแต่วันทำสัญญา โดยได้ทำบันทึกลงชื่อกันไว้แล้วนัดไปทำสัญญากันที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 16 มกราคม 2517 แต่โจทก์บิดพลิ้วไม่ไปทำสัญญาตามกำหนดนัด ดังนี้ หากเป็นความจริงก็แสดงว่าโจทก์จำเลยเจตนาจะให้สัญญาประนีประนอมยอมความเกิดขึ้นเมื่อได้ทำสัญญาแล้ว เมื่อสัญญายังมิได้ทำขึ้นย่อมถือไม่ได้ว่ามีสัญญาประนีประนอมยอมความต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง จำเลยจึงหามีสิทธิอยู่ในที่เช่าต่อไปอีกไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ข้อตกลงซึ่งทำเป็นบันทึกลงชื่อโจทก์และตัวแทนจำเลยเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งผูกพันโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจนกว่าจะปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวขอให้ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและให้สืบพยานต่อไป แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นการขอให้สืบพยานต่อไปในเรื่องค่าขนย้ายอันเป็นประเด็นตามฟ้องแย้ง ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งไม่รับและยุติไปแล้วจึงอุทธรณ์ไม่ได้ ดังนี้ เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ในเรื่องโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งจำเลยอาจอุทธรณ์ได้ศาลฎีกาวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอีกก็ได้