โจทก์ฟ้องว่าที่รายพิพาทโจทก์ได้รับมรดกมาและครอบครองเป็นเจ้าของมา ๓๐ ปีเศษแล้วครั้นเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๔๘๕ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานศาสนสมบัติโดยตำแหน่งได้นำเจ้าพนักงานช่างแผนที่ทำการรังวัดเอาที่ของโจทก์รายนี้หมดทั้งแปลง โดยจำเลยที่ ๑ ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นศึกษาธิการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ้างว่าที่รายนี้เป็นที่ของวัดน้อย (ร้าง) แต่ความจริงที่รายนี้หาได้อยู่ในเขตต์วัดน้อยไม่ การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์จึงขอให้ศาลแสดงว่าที่รายนี้โจทก์ได้รับมรดกครอบครองมาช้านาน ควรได้กรรมสิทธิและห้ามจำเลยทั้ง ๒ เข้าเกี่ยวข้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าตามฟ้องโจทก์มิได้ตั้งข้อพิพาทกับกรมอัยการจังหวัด ในฐานะผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการหรือกับกระทรวงศึกษาธิการ ประเด็นในข้อกรรมสิทธิหรือสิทธิครอบครองนี้ไม่ใช่ข้อพิพาทกับจำเลยทั้ง ๒ ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะส่วนตัว ฟ้องของโจทก์ข้อที่ขอให้แสดงกรรมสิทธิของโจทก์ในที่พิพาทจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะพึงวินิจฉัยในคดีนี้ จึงพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า คดีฟังได้ว่าโจทก์มีกรรมสิทธิหรือสิทธิครอบครองที่พิพาท และจำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินมารังวัดที่พิพาทเพื่อออกโฉนดให้เป็นของผู้อื่น (วัดน้อยราง) เสีย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการละเมิดโต้แย้งกรรมสิทธิหรือสิทธิครอบครองที่พิพาทของโจทก์ ๆ จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลแสดงกรรมสิทธิหรือสิทธิครอบครองที่พิพาทของโจทก์ได้ แม้ว่าจำเลยจะได้กระทำในหน้าที่ราชการโดยอ้างว่าจำเลยมีสิทธิที่จะกระทำได้โดยอาศัยอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นบุคคลที่ ๓ ก็เป็นหน้าที่ของจำเลที่จะเรียกให้บุคคลที่ ๓ ที่จำเลยอาศัยสิทธินั้นเข้ามาในคดีหาใช่เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะฟ้องบุคคลที่ ๓ ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับโจทก์นั้นไม่ จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีนี้ใหม่ แล้วพิพากษาไปตามนัยนี้