ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องคดีภาษีอากรของห้างหุ้นส่วนจำกัดที่เลิกกิจการ ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจฟ้องแทน
ช.เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด น. เมื่อ ช. ถึงแก่กรรม ห้าง น. ย่อมเป็นอันเลิกกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1054 (5), 1080 เว้นแต่จะมีผู้รับมรดกของ ช.เข้าสวมสิทธิในหุ้นส่วนนั้นดำเนินกิจการต่อไปตามเดิม (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 539/2518) และเมื่อห้าง น.เลิกกันก็ต้องตั้งผู้ชำระบัญชีสะสางการงานของห้าง (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 351/2507) ในกรณีนี้ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจฟ้องหรือต่อสู้คดีเกี่ยวกับกิจการของห้างทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาตามมาตรา 1257 (1)
เมื่อ ช. ถึงแก่กรรมและโจทก์ได้รับเป็นผู้จัดการมรดกของ ช.ตามคำสั่งของศาลแล้ว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินจึงได้มีคำสั่งประเมินภาษีเงินได้ของห้าง น. สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีก่อน ช. ถึงแก่กรรม แล้วแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. และผู้ชำระบัญชีของห้าง น. ให้ชำระภาษีเงินได้ของห้างเพิ่ม ดังนี้ คำสั่งดังกล่าวเป็นการประเมินภาษีเงินได้ของห้าง น. ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจาก ช. จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิกองมรดกของ ช. แต่เป็นการโต้แย้งสิทธิของห้าง น. โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งประเมินภาษีอากรของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4
ประมวลรัษฎากรมาตรา 18 ซึ่งบัญญัติถึงกรณีผู้ต้องเสียภาษีอากรถึงแก่ความตายเสียก่อน ให้แจ้งจำนวนภาษีที่ประเมินไปยังผู้จัดการมรดกหรือทายาท ผู้หรือผู้ครอบครองมรดกนั้นจะนำมาใช้บังคับในกรณีตามวรรคก่อนไม่ได้ เพราะกรณีตามวรรคก่อนห้าง น. เป็นผู้ต้องเสียภาษีอากรหาใช่ ช. ไม่ และแม้จำเลยที่ 1 จะแจ้งจำนวนภาษีอากรที่ประเมินของห้าง น. ไปยังโจทก์ และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ยอมรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิกองมรดกของ ช. อันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง