โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับสัมปทานทำไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สักในป่าโครงการไม้กระยาเลย เสียบญวน-ท่าสาร (ชพ.3) ท้องที่อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร มีกำหนดระยะเวลา 30 ปี จำเลยได้ทำสัญญากับโจทก์รับจ้างทำไม้และรับซื้อไม้ในป่าโครงการไม้กระยาเลยเสียบญวน-ท่าสาร ตอนที่ 7 จำนวน 3 แปลง คือแปลงที่ 19, 20และ 21 หลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยมิได้ปฏิบัติตามสัญญา โดยละเว้นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ และได้กระทำโดยประมาท ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยแปลงที่ 19 เป็นเงิน 553,718 บาท แปลงที่ 20267,275.40 บาท และแปลงที่ 21 72,155.40 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 893,647.80 บาท โจทก์ติดต่อทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้จำเลยชำระเงิน 893,647.80 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ทำสัญญารับจ้างทำไม้และรับซื้อไม้ในแปลงที่ 19 กับโจทก์ ส่วนสัญญาในแปลงที่ 20 และ 21 นั้นกรรมการของจำเลยบางคนไปทำสัญญากับโจทก์ โดยมิได้รับมอบอำนาจจากจำเลย และสัญญาดังกล่าวกรรมการของจำเลยลงลายมือชื่อไว้ไม่ครบถ้วน สัญญาดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลย จำเลยไม่มีความผูกพันต่อโจทก์ตามสัญญารับจ้างทำไม้และรับซื้อไม้ทั้งสามแปลง ฟ้องโจทก์จึงเคลือบคลุม โจทก์มิได้รักษาสิทธิของโจทก์ที่จะอุทธรณ์โต้แย้งค่าปรับต่อทางราชการ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยโจทก์เป็นผู้ค้าไม้มิได้เรียกร้องให้จำเลยรับผิดในกรณีไม้ตามฟ้องสูญหายภายใน 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ และก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์มิได้บอกกล่าวทวงถามจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 695,989.40 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้ได้ความว่าจำเลยรับจ้างทำไม้ให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญา แต่จำเลยทำไม้ไม่ครบตามที่สัญญากำหนดไว้ ไม้บางส่วนสูญหายไปโดยไม่ทราบเหตุผลเป็นการกระทำผิดข้อสัญญา ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดสัญญามิได้ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ดังจำเลยกล่าวอ้าง คำฟ้องของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า สัญญามีข้อความระบุว่า สัญญาจ้างและขายไม้หวงห้ามธรรมดานอกจากไม้สักระหว่างบริษัทชุมพรทำไม้ จำกัด(โจทก์) โดยนายกาญจน์ พรหมมาศ กรรมการผู้จัดการ นางผ่องพรรณศิริพรไพบูลย์ กรรมการ ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า "ผู้จ้าง" ฝ่ายหนึ่งกับบริษัทสหพลชัย จำกัด (จำเลย) โดยนางพรพิมล พุ่มศิริซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า "ผู้รับจ้าง" อีกฝ่ายหนึ่งข้อความที่เกี่ยวกับการรับจ้างในข้อ 1 ว่า ผู้รับจ้างตกลงรับจ้างทำไม้หวงห้ามที่ทำออกจากป่าสัมปทาน ข้อ 2 ระบุว่าผู้รับจ้างจะต้องทำไม้ตามจำนวนและรายละเอียดตามข้อ 1 แห่งสัญญานี้โดยผู้รับจ้างจะต้องตัดโค่นทอน ตบแต่ง และชักลากนำไปรวมหมอนยังสถานที่ที่ระบุไว้ในข้อ 1.ข้อ 9 ระบุว่า ไม้ต้นใดหรือท่อนใดที่ผู้รับจ้างได้ลงมือทำจนกว่าผู้จ้างจะได้ขายให้ตามข้อ 10 ผู้รับจ้างมีหน้าที่ดูแลรักษาไว้อย่างดี มิให้เกิดความเสียหาย ข้อ 10 ระบุว่า สำหรับไม้ซุงที่ผู้รับจ้างนำเจ้าหน้าที่ตีตราภาคหลวงแล้ว ผู้จ้างจะขายให้แก่ผู้รับจ้าง ข้อ 11 ในกรณีที่ผู้รับจ้างได้ทำไม้ออกมารวมหมอนตามสัญญาเรียบร้อยแล้ว ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องนำเงินมาชำระให้บริษัทเพื่อนำไปวางมัดจำเพื่อตีตราภาคหลวงต่อทางราชการป่าไม้ ถ้าเมื่อหมดสัญญาทำไม้แต่ละแปลงของทางราชการป่าไม้ ผู้รับจ้างจะต้องนำเงินมาให้ผู้จ้างเพื่อจะได้วางมัดจำตีตราภาคหลวงให้หมดสิ้นถ้าปรากฏว่าผู้รับจ้างไม่นำเงินมาให้เพื่อวางมัดจำตีตราภาคหลวงจนผู้จ้างต้องนำเงินของบริษัทไปวางมัดจำแทน ผู้จ้างอาจจะนำไม้ที่ตีตราภาคหลวงรายนี้จำหน่ายแก่ผู้อื่นได้ โดยบริษัทจะชำระค่าจ้างทำไม้แก่ผู้รับจ้างตามที่คณะกรรมการบริษัทฯ จะกำหนดและถือเป็นเด็ดขาดที่จะโต้แย้งสิทธิใด ๆ ไม่ได้ เห็นได้ว่า ตามสัญญากล่าวถึงการจ้างทำไม้และการขายไม้ สำหรับการจ้างทำไม้มีจำเลยโดยนางพรพิมล เป็นผู้รับจ้างตกลงรับจ้างทำไม้โดยตัดโค่น ทอนตบแต่งและชักลากนำไปรวมหมอนยังสถานที่ที่ระบุไว้จนสำเร็จ แล้วผู้ว่าจ้างคือโจทก์จึงจะขายไม้ดังกล่าวให้จำเลย ถ้าจำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขในข้อ 11 โจทก์อาจขายไม้ดังกล่าวแก่ผู้อื่นได้โดยโจทก์จะชำระค่าจ้างทำไม้ซึ่งเป็นสินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการทำไม้แก่จำเลยสัญญาจ้างนี้จึงอยู่ในลักษณะจ้างทำของตาม บรรพ 3 ลักษณะ 7แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งตามฟ้องโจทก์ก็บรรยายให้เห็นได้ชัดแจ้งว่าประสงค์ว่ากล่าวเอาความกับจำเลย เพราะจำเลยปฏิบัติผิดข้อสัญญาการจ้างทำของโดยเฉพาะ มิได้เกี่ยวกับการขายไม้ดังจำเลยฎีกา แม้การฟ้องคดีเกี่ยวกับการจ้างทำของไม่มีข้อห้ามว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้รับจ้างเป็นสำคัญ ดังนั้นการที่โจทก์ได้นำสืบให้ปรากฏว่าจำเลยมอบอำนาจให้นางพรพิมลเป็นผู้ติดต่อทำธุรกิจในคดีนี้กับโจทก์ได้โดยโจทก์สอบถามถึงการมอบอำนาจไปยังจำเลยจำเลยส่งหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ หลังจากนั้นโจทก์จำเลยติดต่อกันหลายครั้งโดยจำเลยส่งบัญชีรายชื่อคนงานให้โจทก์จำเลยก็นำสืบรับว่าได้ติดต่อซื้อไม้กับโจทก์ ดังนั้นถึงแม้ว่านางพรพิมลเพียงผู้เดียวลงนามแทนจำเลยในการเข้าทำสัญญากับโจทก์ย่อมมีผลใช้บังคับเอาแก่จำเลยได้
ที่จำเลยฎีกาว่า ความเสียหายเกิดจากเหตุสุดวิสัย เพราะไฟไหม้ป่า และไม้ผุแตกเสียหาย โจทก์ไม่จำต้องชำระค่าปรับแก่ทางราชการแต่โจทก์ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์ กลับไปชำระค่าปรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมิใช่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้นเห็นว่า จำเลยนำสืบแต่เพียงว่าโจทก์เคยมีหนังสือแจ้งป่าไม้เขต ว่าไม้ที่ตีตราชักลากแล้วไม่ได้ตีตราภาคหลวงเพราะเกิดไฟไหม้ป่าและตกลงไปลำห้วยผุแตกเสียหายโดยจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่ามีเหตุไฟไหม้ป่าและไม้ตกลงไปในลำห้วยจริง และเป็นเหตุที่ไม่มีใครจะอาจป้องกันได้ เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจนในที่สุดโจทก์ต้องชำระค่าปรับแก่กรมป่าไม้จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญารับจ้างทำไม้ที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ ทั้งโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยทำละเมิดโจทก์จึงไม่จำเป็นต้องนำสืบว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยหรือไม่ดังที่จำเลยกล่าวอ้าง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อความเสียหายของโจทก์ตามข้อสัญญา
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ที่ซื้อขายขาดตกบกพร่องภายใน 1 ปี นับแต่เวลาส่งมอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 467 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้นเห็นว่าจำเลยให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าไม้ โจทก์มิได้เรียกร้องให้จำเลยรับผิดในกรณีที่ไม้ตามฟ้องบางส่วนสูญหายภายในเวลา 2 ปี ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงแตกต่างไปจากที่จำเลยเคยให้การต่อสู้คดีไว้ หาใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249
ที่จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียม (ที่ถูกคือค่าขึ้นศาล) แทนโจทก์ โดยไม่เป็นธรรมโดยจำเลยควรรับผิดใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์เฉพาะส่วนที่จำเลยแพ้คดีนั้น เห็นว่า การที่จะให้คู่ความฝ่ายใดรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมเพียงใดนั้นย่อมอยู่ในดุลพินิจของศาล โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดีของคู่ความ คดีนี้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 893,647.80 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดเป็นเงิน 695,989.40 บาท การที่จะให้จำเลยรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมเกินไปกว่านี้ย่อมเป็นการไม่ยุติธรรมต่อจำเลย ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์เท่าที่ชนะคดี
พิพากษายืน