เจ้าหนี้รายที่ 7 ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเงิน22,126,130 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ (จำเลย) ทั้งสอง มีเจ้าหนี้รายที่ 3 และที่ 4 โต้แย้งว่าไม่มีมูลหนี้ต่อกัน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีความเห็นว่า ควรให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสองตามหนี้อันดับ 2 เป็นเงิน 8,000,000 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 130 (8) ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย และให้ยกคำขอรับชำระหนี้ตามหนี้อันดับ 1 เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 107 (1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2529 อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2529 คัดค้านความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งให้แก้ความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้รวม 22,126,130 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสอง
ศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องดังกล่าวว่า ศาลอนุญาตให้เจ้าหนี้(ผู้ร้อง) ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เจ้าหนี้ (ผู้ร้อง) ผู้โต้แย้งมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ได้ตามกฎหมาย จึงให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องฎีกาว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ครบถ้วนตามคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 146 ซึ่งศาลชอบที่จะรับคำร้องของผู้ร้องไว้พิจารณาและมีคำสั่งต่อไปเมื่อศาลยังมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องตามมาตรา 146 เจ้าหนี้จึงไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และคำสั่งศาลได้นั้นพิเคราะห์แล้ว การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำความเห็นส่งสำนวนเรื่องหนี้สินที่มีผู้ขอรับชำระต่อศาลแม้จะเห็นควรให้ได้รับชำระหนี้บางส่วนและยกคำขอรับชำระหนี้บางส่วน แต่ความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้นไม่มีผลบังคับแต่อย่างใด เพราะศาลอาจพิจารณาวินิจฉัยหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ ฉะนั้นจึงยังไม่มีการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 146ผู้ร้องจะยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งแก้ไขความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หาได้ไม่ ต่อเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอย่างไรแล้วผู้ร้องจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นภายใน 1เดือน นับแต่วันที่ผู้ร้องได้รับทราบคำสั่งนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 153 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว
พิพากษายืน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แก้คดีเอง จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้.