โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประเภทรับค่าจ้างรายวันของจำเลย โดยเริ่มเข้าทำงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2530 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 78 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 13 และวันที่28 ของเดือน ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2532 จำเลยให้โจทก์หยุดทำงานโดยไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง จำเลยบอกให้โจทก์คอยไปสักพักหนึ่งแล้วจะให้โจทก์เข้าทำงานใหม่ โจทก์คอยเป็นเวลาเกินกว่า 7 วันแล้วจำเลยไม่ยอมให้โจทก์กลับเข้าทำงาน ถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด และมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานมาเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย90 วัน เป็นเงิน 7,020 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 24 วันเป็นเงิน 1,872 บาท การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายที่ต้องตกงานขาดรายได้ประจำ ต้องเสียเวลาในการตั้งต้นทำงานใหม่และขาดเงินที่ต้องส่งเสียให้แก่บิดามารดา เป็นเงิน 10,000 บาท ระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลย จำเลยไม่เคยให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปี โจทก์ทำงานมาเป็นเวลา 2 ปี มีสิทธิได้รับค่าจ้างทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี รวม 12 วัน เป็นเงิน 936 บาท และจำเลยให้โจทก์มีสิทธิหยุดงานในวันหยุดตามประเพณี แต่จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์เพียง1 วัน คือวันที่ 23 ตุลาคม 2532 เท่านั้น โจทก์มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีที่ค้างจ่ายอีก 25 วันขอให้พิพากษาบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 18,892 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากเงินต้นดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับจ่ายค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีรวม2,886 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดในแต่ละงวดจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างชั่วคราวซึ่งมีกำหนดระยะเวลาการจ้างและสิ้นสุดไว้แน่นอน โดยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2532จำเลยได้ทำสัญญาการจ้างแรงงานชั่วคราวกับโจทก์ ซึ่งกำหนดระยะเวลาการจ้าง ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2532 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2532เป็นเวลา 120 วัน การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย เพราะเป็นการเลิกจ้างตามสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน และจำเลยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าทั้งการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง โจทก์มิใช่ลูกจ้างที่ได้ทำงานติดต่อกันจนครบกำหนด 1 ปี ซึ่งมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี และโจทก์เป็นลูกจ้างรายวันชั่วคราวไม่ได้รับค่าจ้างในวันที่ไม่ได้มาทำงาน โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี
วันนัดพิจารณาโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า
ข้อ 1. จำเลยได้รับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้าง มีหน้าที่ทำงานตามที่จำเลยสั่งในโรงงานปั่นด้ายของจำเลย ได้รับค่าจ้างวันละ78 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 13 และวันที่ 28 ของเดือน
ข้อ 2. โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยมีหมายเลขประจำตัวเลขที่121612 ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน ไม่ได้เปลี่ยนแปลง
ข้อ 3. จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยรวม6 ครั้ง แต่ละครั้งมีกำหนดเวลาการจ้างแน่นอนครั้งละ 120 วันเมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้วก็เลิกจ้าง แล้วหยุด 3-4 วันจึงมาทำสัญญากันใหม่ครั้งละ 120 วัน ทำสัญญาเช่นนี้เรื่อยไป สัญญาฉบับสุดท้ายคือสัญญาฉบับลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2532 ตามเอกสารหมาย ล.1
ข้อ 4. จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1พฤศจิกายน 2532 เนื่องจากครบกำหนดสัญญาตามเอกสารหมาย ล.1
ข้อ 5. ตั้งแต่โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยรวม 6 ครั้ง จำเลยไม่เคยให้โจทก์หยุดพักผ่อนประจำปี และโจทก์มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 12 วัน ตามฟ้อง
ข้อ 6. ในช่วงที่โจทก์ทำงานกับจำเลยตามสัญญา 6 ฉบับ จำเลยได้ให้โจทก์หยุดทำงานในวันหยุดตามประเพณี รวม 25 วัน แต่จำเลยไม่ได้จ่ายค่าจ้างในวันหยุดดังกล่าวให้โจทก์
ศาลแรงงานกลางเห็นว่า ข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะวินิจฉัยคดีได้ให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีจำนวน 1,950 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยรวม 6 ครั้ง ครั้งแรกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2530 การจ้างให้ทำงานแต่ละครั้งมีกำหนดระยะเวลา 120 วันเมื่อครบกำหนดแล้ว จำเลยให้โจทก์หยุดงานไปประมาณ 3-4 วัน จึงมาทำสัญญาจ้างกันใหม่ครั้งละ 120 วันเช่นนี้เรื่อยไป สัญญาจ้างฉบับสุดท้ายทำกันเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2532 และจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2532 ในขณะที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532มีผลใช้บังคับแล้ว แม้จำเลยจะทำสัญญาจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอน แต่ลักษณะงานที่จำเลยให้โจทก์ทำนั้น ไม่ใช่เป็นงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจรเป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการ จำเลยจึงมิได้รับการยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ซึ่งแก้ไขใหม่โดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงาน รวม 6 ฉบับ สัญญาแต่ละฉบับมีกำหนดระยะเวลาการจ้าง120 วัน เป็นการจ้างที่สืบต่อเนื่องกันมาถือไม่ได้ว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอน อายุการทำงานของโจทก์เริ่มนับแต่วันที่โจทก์เข้าทำงานตามสัญญาจ้างฉบับแรกคือตั้งแต่เดือนตุลาคม2530 ซึ่งโจทก์มีอายุการทำงาน 2 ปีเศษโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยจำนวน 7,020 บาท ตามฟ้อง และเมื่อการที่จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นการจ้างที่มิได้มีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอน จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าจำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทำงานติดต่อกันเกินกว่า 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามฟ้อง พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่าจำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำงานในโรงงานปั่นด้ายของจำเลย โดยจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์รวม 6 ฉบับ สัญญาจ้างแต่ละฉบับมีกำหนดระยะเวลาการจ้าง 120 วัน ซึ่งเมื่อครบกำหนดตามสัญญาก็เลิกจ้าง แล้วให้หยุดงาน 3-4 วัน จึงมาทำสัญญากันใหม่ซึ่งตามสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายตามเอกสารหมาย ล.1 ระบุไว้ว่า นายจ้างตกลงจ้างและลูกจ้างตกลงรับจ้างทำงานในตำแหน่งหน้าที่ชั่วคราวมีกำหนดระยะเวลา 120 วัน ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2532 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2532 และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าวสภาพการจ้างตามสัญญานี้เป็นอันสิ้นสุดลง จากข้อเท็จจริงที่ได้ความว่าดังกล่าวเห็นว่า สัญญาจ้างดังกล่าวแต่ละฉบับเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้าง รวมทั้งวันที่เริ่มต้นและสิ้นสุดแห่งสัญญาไว้จึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน คือมีกำหนดระยะเวลาการจ้างครั้งละ 120 วันอายุการทำงานของโจทก์ต้องถือตามระยะเวลาการจ้างที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างแต่ละฉบับมิใช่ถือเอากำหนดระยะเวลาการจ้างโดยเริ่มนับแต่วันที่โจทก์เข้าทำงานตามสัญญาจ้างฉบับแรก ปัญหาว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เมื่อเลิกจ้างหรือไม่ เพียงใดเห็นว่าแม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 แต่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยข้อดังกล่าวได้มีการแก้ไขใหม่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532ข้อ 7 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2532 ว่า กรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง เมื่อเลิกจ้างนั้นนอกจากสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และลูกจ้างจะเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้ว ต้องเป็นการจ้างเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจรเป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการด้วย คดีนี้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามสัญญาจ้างฉบับสุดท้าย เมื่อวันที่1 พฤศจิกายน 2532 ในขณะที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 มีผลใช้บังคับผลของการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามสัญญาจ้างฉบับนี้จึงต้องบังคับและเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ซึ่งแก้ไขใหม่โดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยจ้างโจทก์เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง โจทก์ทำงานกับจำเลยตามสัญญาฉบับสุดท้ายมีอายุการทำงาน 120 วัน จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากันค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวันเป็นเงิน 2,340 บาท..."
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 2,340 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.