โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารขายแก่ประชาชน จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาจะขายอาคารพาณิชย์ ๑ คูหาพร้อมที่ดินให้แก่โจทก์และรับเงินมัดจำไปแล้ว แต่จำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวเป็นการผิดสัญญา ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองคืนมัดจำและใช้ค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ หยุดการก่อสร้างเพราะโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระราคาที่ดินและอาคาร จึงไม่ต้องคืนมัดจำส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ต้องซื้อตึกแถวในราคาสูงขึ้นเป็นค่าเสียหายอันเกิดจากพฤติการณ์พิเศษที่จำเลยที่ ๑ มิได้คาดคิด โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยที่ ๒ เป็นเพียงตัวแทนเชิดของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ คืนมัดจำและชดใช้ค่าเสียหาย ยกฟ้องจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏตามสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินตามฟ้องว่า โจทก์จะต้องชำระค่าอาคารพาณิชย์และที่ดินตามฟ้อง ๔ งวด งวดที่ ๑ ชำระ ๔๐,๐๐๐ บาท ถือว่าเป็นค่ามัดจำ ซึ่งโจทก์ได้ชำระให้จำเลยที่ ๑ แล้วในวันทำสัญญางวดที่ ๒ ชำระ ๖๕,๐๐๐ บาท เมื่อจำเลยที่ ๑ ขุดหลุมตอกเข็มแล้วงวดที่ ๓ ชำระ ๕๐,๐๐๐ บาท ภายใน ๓๐ วันหลังจากชำระงวดที่ ๒ งวดที่ ๔ ชำระ ๕๐,๐๐๐ บาท ภายใน ๓๐ วัน หลังจากชำระงวดที่ ๓ เงินที่เหลือชำระก่อนหรือในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินตามฟ้อง พร้อมกับชำระเงินงวดที่ ๑ ให้แก่จำเลยที่ ๑ นั้น การก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ตามฟ้องชั้นล่างได้แล้วเสร็จและกำลังก่อสร้างชั้นที่สอง จำเลยที่ ๑ ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ตามฟ้องต่อไปอีกประมาณ ๗ วันก็หยุดก่อสร้างไปเองและทิ้งค้างไว้เช่นนั้นเป็นเวลานานกว่า ๑ ปี จนกระทั่งโจทก์ฟ้องคดีนี้ก็ยังไม่ก่อสร้างต่อ และที่จำเลยที่ ๑ หยุดการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ตามฟ้องนั้น มิได้หยุดเพราะโจทก์ผิดนัดไม่ชำระราคาอาคารพาณิชย์และที่ดินตามฟ้องให้จำเลยที่ ๑ ตามสัญญาทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้เคยทวงถามให้โจทก์ชำระเงินงวดที่ ๒ และงวดต่อ ๆ ไปเลยจำเลยที่ ๑ จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ที่จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า โจทก์ยังไม่ได้ซื้อตึกแถวรายใหม่จึงยังมิได้รับความเสียหาย และอาคารพาณิชย์ราคาถูกแพงต่างกันอยู่ที่สภาพของอาคารและทำเล ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ จำเลยที่ ๑ ไม่อาจคาดเห็นได้ และโจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ ๑ ทราบว่าได้ซื้ออาคารพาณิชย์อื่นในราคาแพงขึ้น จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้นเห็นว่า หากจำเลยที่ ๑ ปฏิบัติตามสัญญาโจทก์ก็สามารถได้กรรมสิทธิ์ในอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินตามฟ้องโดยเสียเงิน ๔๔๕,๐๐๐ บาท แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาไม่ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ตามฟ้องให้แล้วเสร็จเพื่อส่งมอบให้โจทก์ หลังจากโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินตามฟ้องแล้วอาคารพาณิชย์และที่ดินในละแวกนั้นมีราคาสูงขึ้น การที่จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาจึงเห็นได้ชัดว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย ข้ออ้างตามคำฟ้องและข้อนำสืบของโจทก์นั้นมิได้มีข้อผูกพันว่าโจทก์จะต้องซื้ออาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินรายใหม่แทนอาคารพาณิชย์และที่ดินตามฟ้องในราคาสูงกว่า ๔๔๕,๐๐๐ บาทเสียก่อน จึงจะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๑ ได้ เพราะค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมิใช่ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ แต่เป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่จำเลยที่ ๑ ไม่ชำระหนี้คือไม่ก่อสร้างอาคารพาณิชย์ตามฟ้องให้แล้วเสร็จและส่งมอบให้โจทก์ จำเลยที่ ๑ จะคาดเห็นหรือควรจะคาดเห็นล่วงหน้าก่อนแล้วหรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อสำคัญ พฤติการณ์ตามที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการผิดนัดสัญญาของจำเลยที่ ๑ แต่โจทก์ยังมิได้ซื้ออาคารพาณิชย์พร้อมที่ดินที่มีสภาพและทำเลเช่นเดียวกับอาคารพาณิชย์และที่ดินตามฟ้อง จึงยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าโจทก์จะต้องเสียเงินเพิ่มจากราคาอาคารพาณิชย์และที่ดินที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจากจำเลยที่ ๑ เป็นจำนวนเงินเท่าใด แต่ศาลมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินค่าเสียหายยให้โจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ ๓๕,๐๐๐ บาทนั้นเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว
พิพากษายืน