โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อมาสด้าแบบกระบะบรรทุก ๑ คัน จากโจทก์ราคา ๘๘,๔๐๐ บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อ ๓๐ งวด จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อกับบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด โดยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ในกรณีรถสูญหายเป็นเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท ตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ ๑ ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์แล้วสามงวดรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกโจรกรรมเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อระงับ โจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยดังกล่าวแล้วเป็นเงิน ๒๔,๖๖๕ บาท จำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์อีกเป็นเงิน ๕๔,๘๘๕ บาท รวมทั้งดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๒๔,๐๑๒ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๗๘,๘๙๗ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่าขณะทำสัญญาเช่าซื้อโจทก์ไม่มีวัตถุที่ประสงค์ในการให้เช่าซื้อรถยนต์ สัญญาเช่าซื้อตามฟ้องไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อรถยนต์สูญหาย สัญญาเช่าซื้อระงับ จำเลยที่ ๑ ไม่ต้องรับผิดและตามสัญญาเช่าซื้อข้อ ๑๔ ระบุว่าจำนวนเงินที่เอาประกันภัยจะต้องไม่ต่ำกว่าค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดต่อโจทก์ ดังนั้นการที่โจทก์รับเงินค่าสินไหมทดแทนเพียง ๒๔,๖๖๕ บาท จากบริษัทรับประกันภัยจึงเป็นกรณีที่โจทก์ยินยอมเอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเอาส่วนที่ยังขาดจากจำเลย โจทก์ไม่เสียหายตามฟ้อง และจะคิดดอกเบี้ยไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาประเด็นที่เหลือต่อไป
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า แม้ในขณะที่โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์อันเป็นสังหาริมทรัพย์ต่อกันโดยโจทก์เป็นผู้ให้เช่าซื้อนั้น วัตถุที่ประสงค์ของโจทก์ผู้เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามที่จดทะเบียนไว้ในขณะนั้นยังมิได้ระบุให้โจทก์ประกอบกิจการเป็นผู้ให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์ได้ แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ ให้การและนำสืบยอมรับว่าโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กันจริงตามเอกสารหมาย จ.๓ จำเลยที่ ๑ จะโต้แย้งว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะการให้เช่าซื้อรถยนต์อยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้หาได้ไม่ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๒๖/๒๕๑๘ ระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ราชายนต์ โจทก์ นายสุรยุทธ โคตระวีระ จำเลย ที่จำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ว่า การทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์อยู่ในวัตถุประสงค์ของโจทก์ กับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีสิทธิจะยกข้อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ให้เช่าซื้อรถยนต์เป็นคนละเรื่องกัน ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ตั้งประเด็นไว้ในข้อ ๑ ว่า การทำสัญญาเช่าซื้ออยู่ในขอบวัตถุที่ประสงค์ของโจทก์และมีผลผูกพันโจทก์หรือไม่ แล้วศาลชั้นต้นวินิจฉัยตามประเด็นดังกล่าวนี้ว่าการทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์อยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่า การดำเนินกิจการให้เช่าซื้อรถยนต์อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของโจทก์ ขอให้ศาลอุทธรณ์สั่งให้ส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปหรือให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้โจทก์ชนะคดี ซึ่งมีความหมายว่า โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกเหตุที่โจทก์มิได้ยกขึ้นอ้างอิงไว้โดยตรง คือเหตุที่จำเลยจะยกข้อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีวัตถุประสงค์ให้เช่าซื้อรถยนต์ขึ้นอ้างอิงเพื่อแสดงให้เห็นถึงอำนาจฟ้องของโจทก์ได้ หาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องอุทธรณ์ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ในประเด็นอื่นชอบแล้ว
พิพากษายืน