ได้ความว่า จำเลยรับสัมปทานทำการจำหน่ายกระแสร์ไฟฟ้าในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตอนกลางคืนมีพายุฝน สายไฟฟ้าของจำเลยซึ่งชำรุด ไม่มียางหุ้มได้ขาดตกลงมาบางตอนพาดอยู่บนพื้นสาธารณะ รุ่งขึ้นเวลา ๙.๐๐ น. เศษ บุตรโจทก์เดินไปโรงเรียนไปสดุดสายไฟฟ้านั้นถึงแก่ความตายด้วยแรงกระแสร์ไฟฟ้า
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประมาทเลินเล่อและผิดข้อบังคับสัมปทาน เรียกค่าเสียหายและค่าทำศพ ๑๐,๕๓๘ บาท จำเลยต่อสู้ว่า พายุฝนพัดทางมะพร้าวและกิ่งไม้หักทับสายไฟขาด เป็นการอุบัติเหตุสุดวิสัย ผู้ตายประมาทไปสดุดเอง ค่าเสียหายสูงเกินไป
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นว่า จำเลยไม่ผิดสัมปทาน สายไฟขาดโดยอุบัติเหตุ ไม่ใช่ความประมาทของจำเลย พิพากษายกฟ้อง แต่ให้จำเลยใช้ค่าธรรมเนียมแทนโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีต้องด้วยมาตรา ๔๓๗ ป.ม.แพ่งฯ เพราะกระแสร์ไฟฟ้า เป็นของที่เกิดอันตรายได้โดยสภาพหรือโดยความมุ่งหมายที่จะใช้ การค้ากระแสร์ไฟฟ้ากระทบกระเทือนความปลอดภัยของสาธารณะชน แต่จำเลยพิสูจน์ไม่ได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ฟ้องเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้เสียหายเอง เพราะผู้สัญจรตามทางสาธารณะย่อมคาดหมายไม่ได้ว่าตามทางนั้นจะมีสายไฟฟ้า และจำเลยละเลยกิจการอันควรทำให้ดีหลายประการ เช่น ควรตัดรานกิ่งไม้ใกล้เคียง มีสวิตอัตโนมัติหรือชะนวนตะกั่ว เพื่อตัดตอนกระแสร์ไฟฟ้า ทั้งรู้อยู่ว่าฝนตกพายุจัด ก็ไม่ออกตรวจตราในเวลาอันควรให้สมกับหน้าที่บริการสาธารณะ
พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทน ๑๐๕๓๘ บาทและค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนาย ๓ ศาล ๕๐+ บาทแทนโจทก์.