โจทก์ฟ้องว่านางจ้อยมารดาจำเลย ได้จำนำมาโฉนดที่ ๑๖๗ จังหวัดปราจีนบุรีไว้กับ นายเก๊า ปู่โจทก์ จำนำได้ ๒ ปี นางจ้อย ค้างดอกเบี้ยจึงมอบนาให้นายเก๊า ทำต่างดอกเบี้ยและสัญญาว่าถ้าไม่ไถ่คืนภายใน ๑๐ ปียอมยกให้เป็นของ นายเก๊า ที่นาจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ นายเก๊า ตามกฎหมายว่า ด้วยประกาศ เรื่องการจำนำและขายฝากที่ดิน ร.ศ.๑๑๘ และโดยทางครอบครองตาม ป.พ.พ.๑๓๘๒ คือบิดาโจทก์และตัวโจทก์ได้ครอบครองติดต่อกันมาโดยสงบและเปิดเผยเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โดยปลอดการจำนำ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง ฯลฯ
จำเลยรับว่านางจ้อยได้ทำสัญญาจำนำและมอบนาให้ นายเก๊า ทำต่างดอกเบี้ย แต่โจทก์ไม่เคยครอบครอง นางจ้อย ไม่เคยตกลงกับนายเก๊าว่าถ้าไม่ไถ่ถอนการจำนำภายใน ๑๐ ปี จะยกกรรมสิทธิ์ที่นาให้ นายเก๊า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่พิพาท เป็นของโจทก์โดยปลอดการจำนำ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง ฯลฯ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาจำนำที่พิพาทรายนี้ได้กระทำกันก่อนประกาศใช้บังคับ ป.พ.พ.บรรพ ๓ จึงต้องบังคับตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น กล่าวคือต้องบังคับตาม พ.ร.บ.การขายฝากและจำนำที่ดิน ร.ศ. ๑๑๕ และประกาศเรื่องจำนำและขายฝากที่ดิน ร.ศ.๑๑๘
ก่อนใช้ ป.พ.พ.บรรพ ๓ นั้น การวินิจฉัยว่าสัญญาใดเป็นจำนำ สัญญาใดเป็นเรื่องขายฝากนั้น ศาลฎีกาได้พิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้หลายเรื่องว่า ให้ดูกิริยาที่คู่สัญญาประพฤติกันมาว่าเป็นจำนำหรือขายฝาก แม้สัญญาจะมีข้อความเป็นอย่างอื่นก็ต้องถือตามกิริยาที่ประพฤติต่อกัน ฎีกาที่ ๒๒/๑๑๗, ที่ ๒๕/๑๒๓, ที่ ๔๖๗/๒๔๕๗, ที่ ๘๑/๒๔๖๖๙,ที่ ๗๙๐/๒๔๖๙ และที่ ๑๐๔๔/๒๔๙๒
คดีนี้เป็นอันรับในข้อเท็จจริงว่า นางจ้อยได้มอบนาที่จำนำให้นายเก๊าทำต่างดอกเบี้ยหลังจากทำสัญญาจำนำแล้ว ๒ ปี กิริยาที่นางจ้อย และ นายเก๊า ประพฤติต่อกันนี้จึงเป็นกิริยา การขายฝาก เมื่อ นางจ้อย มิได้ไถ่คืนภายใน ๑๐ ปี ที่พิพาทจึงหลุดเป็นของ นายเก๊า ตั้งแต่ก่อนใช้ ป.พ.พ.บรรพ ๓ พิพากษายืน.