โจทก์ฟ้องว่า จำเลยยืมเงินโจทก์จำนวน 200,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ ต่อมาโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระคืน จำเลยเพิกเฉย ขอให้พิพากษาให้จำเลยชำระเงินยืมดังกล่าวคืนแก่โจทก์พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันผิดนัด
จำเลยให้การว่า จำเลยยืมเงินจำนวนดังกล่าวของโจทก์ไปจริง แต่มีข้อตกลงผ่อนชำระเป็นงวด ๆ ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระ ต่อมาโจทก์ตกลงให้นำเงินกู้รายนี้มาลงทุนร่วมกับจำเลยเพราะจำเลยจะจดทะเบียนเพิ่มทุน หนี้เงินกู้จึงระงับไปแล้ว ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยยืมเงินโจทก์ไปจริงตามฟ้องและไม่ชำระคืน พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หนี้เงินยืมตามฟ้องเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลที่คู่ความขอสืบเพื่อประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่า ยังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก ดังนั้นเมื่อตามเอกสารหลักฐานการยืมเงินหมาย จ.2 ที่จำเลยทำให้โจทก์ไว้ไม่ได้ระบุเวลาชำระหนี้ กรณีก็ต้องถือว่าหนี้เงินยืมตามเอกสารนี้เป็นหนี้ที่ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้และโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้รายนี้เมื่อใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคแรก การที่จำเลยให้การต่อสู้และจะขอนำพยานบุคคลมาสืบว่า ได้มีข้อตกลงระหว่างจำเลยกับโจทก์ให้จำเลยผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ๆ และหนี้รายนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ เป็นการขอนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติมข้อความในเอกสารหลักฐานการยืม หมาย จ.2 ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94(ข) จำเลยจึงไม่มีสิทธิจะนำพยานบุคคลมาสืบตามข้อต่อสู้ในคำให้การได้ คดีของจำเลยไม่มีทางชนะ ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่อ้างว่าจำเลยไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณาต่อไป
พิพากษายืน