โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง ๓ ได้ร่วมกันซื้อและขนถ่ายสินค้า คือ ไม้จิ้มฟัน ๒๐๐ โหล ราคา ๒,๗๖๐ บาท ต้องเสียค่าอากร ๔๑๘ บาท พุดซาจีนแห้ง ๒ กระสอล ราคา ๒๕๕ บาท ต้องเสียค่าอากร ๑,๒๔๐ บาท ดอกไม้จีนแห้ง ๓ กระสอบ ต้องเสียค่าอากร ๒๑๖ บาท ซึ่งเป็นของต้องห้ามต้องจำกัด และเป็นสินค้าที่นำมาจากต่างประเทศโดยเรือสินค้าชื่อ ซุ๊นชิง เข้ามาจอดในลำแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งยังไม่ได้ผ่านศุลกากร ยังไม่ได้เสียภาษีอากร จำเลยร่วมกันซื้อและขนถ่ายลงเรือยนต์พาเข้าไปในคลองบางแก้วโดยเจตนาฉ้อค่าภาษี โดยจำเลยรู้อยู่ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร ฯ ริบเรือยนต์และสินค้าของกลาง
จำเลยที่ ๒ รับสารภาพ จำเลยที่ ๑ และ ๓ ให้การปฏิเสธ
ศาลอาญาพิพากษาว่า จำเลยทั้ง ๓ ผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๗,๓๑,๓๒ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓ ปรับคนละ ๒๔,๔๘๔ บาท ลดโทษจำเลยที่ ๒ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๔ กึ่งหนึ่ง คงปรับ ๑๔,๗๔๒ บาทไม่ชำระค่าปรับจัดการตามมาตรา ๒๙,๓๐ หากต้องกักขังแทน ให้กักขังจำเลยที่ ๒ กำหนด ๖ เดือน จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ คนละ ๑ ปี ริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๓ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลอาญาปรับจำเลยเรียงตัวไม่ชอบและเป็นเหตุในลักษณะคดี ส่วนกำหนดเวลากักขังแทนค่าปรับก็ไม่ถูก แต่โจทก์ไม่อุทธรณ์ ไม่อาจแก้ให้เป็นโทษแก่จำเลย พิพากษาแก้ให้ปรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่เท่าราคาของรวมค่าอากรเป็นเงิน ๒๙,๘๔๘ บาท เฉลี่ยคนละเท่า ๆ กัน ปรับคนละ ๑๔,๗๔๒ บาท ลดโทษจำเลยที่ ๒ กึ่งหนึ่ง คงปรับ ๗,๑๗๑ บาท ไม่ชำระจัดกการตามมาตรา ๒๙,๓๐ หากต้องกักขังแทนให้กักขังเท่าศาลอาญากำหนดไว้ ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๓ คืนเรือยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ยืน
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ และริบเรือยนต์ กับขอให้ปรับจำเลยรายตัวตามความเห็นศาลอาญา และแก้ไขกำหนดเวลากักขังให้ถูกต้อง
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๓ ไม่ได้กระทำผิด ให้คืนเรือยนต์ของกลางให้จำเลยที่ ๓ ส่วนที่ขอให้ลงโทษปรับจำเลยเรียงตัวตามคำพิพากษาศาลอาญานั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ บัญญัติว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงิน ๔ เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ดังนั้นถ้าจะปรับจำเลยเรียงตัวคนละ ๔ เท่าของอัตราราคานั้น ก็จะเป็นการปรับจำเลยสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ เกิน ๔ เท่า ย่อมขัดบทกฎหมายมาตรานั้น และจะนำมาตรา ๓๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับก็ไม่ได้ เพราะได้มีบัญญัติไว้เป็นพิเศษโดยพระราชบัญญัติศุลกากรต่างหากแล้ว อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๖๔/๒๕๐๖ ส่วนเรื่องกำหนดเวลากักขังจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ แทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙,๓๐ นั้น ปรากฎว่า เมื่อศาลอาญาพิพากษาแล้ว โจทก์ไม่อุทธรณ์ ครั้นศาลอุทธรณ์ยกขึ้นมาชี้แจงว่าศาลอาญากำหนดเวลากักขังจำเลยทั้ง ๒ แทนค่าปรับไม่ถูก โจทก์จึงฎีกาขอให้แก้ไขให้ต้องตามกฎหมาย ดังนี้เห็นว่า เมื่อคดีไม่มีอุทธรณ์ในข้อนี้ เรื่องกำหนดเวลากักขังแทนค่าปรับก็ยุติตามคำพิพากษาศาลอาญาแล้ว ศาลฎีกาขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ หาได้ไม่ พิพากษายืน