โจทก์ทั้งสิบเอ็ดฟ้องว่า จำเลยโกรธแค้นโจทก์ที่ฟ้องขอให้จ่ายค่าจ้างอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย จึงหาเหตุแกล้งโจทก์ เช่น ตักเตือนเป็นหนังสือ ให้ลงชื่อรับทราบผลงานแต่ละวัน ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดโดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดขัดคำสั่งจำเลย การเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำเลยสั่งพักงานให้โจทก์ที่ ๓ โดยไม่ปรากฏความผิด ๖ วัน และค้างค่าจ้างโจทก์บางคน ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดพร้อมดอกเบี้ย ให้จ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระแก่โจทก์บางคนและจ่ายค่าจ้างที่พักงานโจทก์ที่ ๓
จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบเอ็ดเพราะจงใจฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและขัดคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย โดยไม่ยอมลงชื่อรับทราบผลงานตามระเบียบ การเลิกจ้างไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสิบเอ็ดไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหากเสียหายจริงเรียกได้ไม่เกินคนละ ๑๐๐ บาท จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย จำเลยมีสิทธิสั่งพักงานโจทก์ที่ ๓ ได้เพราะโจทก์ที่ ๓ ฝ่าฝืนข้อบังคับในการทำงานและคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นความผิดมีโทษทางวินัย จำเลยสั่งพักงานโจทก์ที่ ๓ ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันพักงาน โจทก์ที่ ๓ เป็นลูกจ้างรายวันไม่มีสิทธิรับค่าจ้างสำหรับวันที่ไม่ได้ทำงาน ส่วนค่าจ้างค้างชำระจำเลยยินดีชำระให้
ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยชำระค่าจ้างที่ค้างแก่โจทก์ทุกคน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดพร้อมดอกเบี้ย และค่าจ้างค้างชำระ (ระหว่างถูกพักงาน) แก่โจทก์ที่ ๓
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อบังคับของจำเลยมีความว่า การทำงานแต่ละวันนั้นจำเลยได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ ลูกจ้างพึงทำงานอย่าให้ต่ำกว่าเกณฑ์นั้นหากลูกจ้างคนใดทำงานต่ำกว่าเกณฑ์จำเลยมีสิทธิตัดเตือน ให้ปรับปรุงการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย เมื่อตักเตือนแล้วนายจ้างมีสิทธิให้ลูกจ้างลงชื่อรับทราบผลงานและรับทราบการตักเตือนซึ่งอาจเป็นการตักเตือนให้ปรับปรุงการทำงาน หรือตักเตือนเพื่อเป็นการลงโทษแล้วแต่กรณี เกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดตามข้อบังคับดังกล่าวน่าจะอยู่ในวิสัยที่ลูกจ้างทั่วไปกระทำได้ เพราะข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีลูกจ้างอื่นทำไม่ได้นอกจากโจทก์ทั้งสิบเอ็ด ดังนั้นเป้าหมายของเกณฑ์ขั้นต่ำหรือวัตถุประสงค์ของจำเลยที่จะให้ลูกจ้างทำงานไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจึงไม่เป็นการพ้นวิสัย ไม่เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งกฎหมายคุ้มครองแรงงานก็มิได้บัญญัติห้ามไว้แต่อย่างใด การตรวจสอบผลงานแต่ละวัน การว่ากล่าวตักเตือนลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงาน การให้ลงชื่อรับทราบการสรุปผลงานย่อมเป็นสิทธิทั่วไปที่นายจ้างพึงกระทำแก่ลูกจ้างได้ หาเป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่
การที่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดทำงานได้ต่ำกว่าเกณฑ์เป็นส่วนมาก เมื่อจำเลยสรุปผลงานให้โจทก์แต่ละคนลงชื่อตามข้อบังคับ โจทก์ไม่ยอมลงชื่อรับทราบสรุปผลงาน ไม่ยอมลงชื่อรับทราบการตักเตือน เมื่อข้อบังคับของจำเลยกำหนดไว้ว่านายจ้างต้องเรียกลูกจ้างมาเพื่อทำการตักเตือนการำงานพร้อมกับให้เซ็นชื่อรับทราบผลงานของตน ข้อบังคับดังกล่าวจึงเป็นข้อบังคับที่กล่าวถึงด้านนายจ้างแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้กล่าวถึงด้านลูกจ้างด้วย เพราะใช้คำว่า นายจ้าง "ต้อง" และเมื่อนายจ้างตักเตือนแล้วนายจ้างต้อง "ให้" ลูกจ้างลงชื่อไม่ได้ระบุบังคับให้ลูกจ้างว่าต้องลงชื่อจึงไม่อาจแปลได้ว่าเป็นการบังคับลูกจ้าง เมื่อโจทก์ทั้งสิบเอ็ดไม่มีหน้าที่ลงชื่อ จะถือว่าฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับทำงานไม่ได้ และแม้จำเลยจะประกาศตักเตือนก็ตามถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดขัดคำสั่งของจำเลยเช่นกันเพราะไม่มีข้อบังคับรองรับคำเตือนจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
พิพากษายืน