โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจการธนาคารพาณิชย์ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้ พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม โดยอ้างว่าโจทก์นำรายรับค่าดอกเบี้ยไปเสียภาษีการค้าไว้ไม่ครบถ้วนและมิได้นำรายรับค่าดอกเบี้ยมาคำนวณเป็นรายรับในการเสียภาษีเงินได้ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ซึ่งเป็นการไม่ชอบขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการพิจารณาอุทธรณ์เสีย
จำเลยให้การว่า โจทก์ใช้วิธีการปฏิบัติทางบัญชีแบบเกณฑ์สิทธิเงินค่าดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดจะต้องชำระแล้ว แม้ยังไม่ได้รับมาจริง โจทก์ก็ต้องนำมาคำนวณเป็นรายรับเพื่อเสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้ การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ในเรื่องภาษีการค้านั้น จำเลยฎีกาว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์ลงบัญชีตั้งพักไว้เป็นดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระหรือค้างชำระย่อมเป็นเงินที่พึงได้รับหรือควรได้รับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๙จึงเป็นรายรับซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าจากรายรับนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๙ ที่บัญญัติว่า "รายรับหมายความว่าเงินทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใด ๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรเนื่องจากการประกอบการค้า" นั้นหมายถึงรายรับเนื่องจากการประกอบการค้าประเภททั่วไป ส่วนรายรับจากการค้าประเภทการธนาคารนั้น ในมาตรา ๗๙ แห่งประมวลรัษฎากรนั้นเองได้บัญญัติข้อยกเว้นไว้ว่า "เว้นแต่ ฯลฯ (๓) รายรับจากการค้าประเภทธนาคารหมายความว่า (ก) ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการที่เรียกเก็บและ (ข) ฯลฯ" ดังนั้น เพียงแต่ดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระหรือค้างชำระเนื่องจากการค้าประเภทธนาคาร จะถือว่าเป็นเงินที่ถึงได้หรือควรได้รับตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๙ ดังที่จำเลยฎีกาหาได้ไม่ คดีคงมีปัญหาว่าดอกเบี้ยที่ธนาคารโจทก์ลงบัญชีตั้งพักไว้คือดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมและรับจำนองซึ่งถึงกำหนดชำระแล้วในแต่ละเดือน แต่ยังไม่ได้รับชำระจริง จะถือเป็นรายรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๙(๓)(ก) อันจะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้าในแต่ละเดือนนั้นหรือไม่ ศาลฎีกาโดยมิตที่ประชุมใหญ่เห็นว่าดอกเบี้ยอันเป็นรายรับจากการค้าประเภทธนาคารตามที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๙(๓)(ก) นั้น หมายถึงดอกเบี้ยที่ได้รับชำระแล้วคือ ดอกเบี้ยรับชำระจริงในเดือนใดจึงจะถือว่าเป็นรายรับของเดือนนั้นเมื่อดอกเบี้ยที่ธนาคารโจทก์ลงบัญชีตั้งพักไว้เพียงแต่ถึงกำหนดชำระแล้วแต่ยังไม่ได้รับชำระจริง จึงยังไม่เป็นรายรับตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๙(๓)(ก)ในอันที่จะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีการค้าในแต่ละเดือนนั้น
ในเรื่องภาษีเงินได้นั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๕ กำหนดให้เก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี ส่วนเงินได้พึงประเมิน มาตรา ๓๙ ให้หมายความว่าเงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน บทกฎหมายกำหนดไว้ดังนี้ เป็นที่เห็นได้ชัดว่าเงินได้อันจะนำมาคำนวณภาษีนั้น ไม่ว่าจะเป็นเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นก็ดี ต้องเป็นสิ่งที่ได้รับมาแล้ว มิใช่เป็นแต่เพียงมีสิทธิที่จะได้รับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นมาในภายหน้า ซึ่งในขณะครบรอบระยะเวลาบัญชี ยังไม่เป็นเงินได้ตามมาตรา ๓๙ ที่จะนำไปคิดกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการที่กระทำตามมาตรา ๖๕ แต่อย่างใด ศาลฎีกาจึงเห็นว่าดอกเบี้ยที่โจทก์ลงบัญชีตั้งพักไว้ แม้เป็นดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดชำระแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระมาจริง จึงยังไม่เป็นเงินได้ตามมาตรา ๓๙ ที่จะนำไปคิดเป็นกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการของโจทก์ตามมาตรา ๖๕
พิพากษายืน