ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับประกันภัยขนส่งสินค้าทางทะเล: ความรับผิดของผู้รับประกันภัยและขอบเขตความคุ้มครอง
ผู้รับประกันภัยรับประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายในการขนส่งอุปกรณ์ไฟฟ้าทางทะเลจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทย เมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายและผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดและจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนของผู้ทำละเมิดได้ แม้กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างผู้รับประกันภัยและ ผู้เอาประกันภัยจะลงลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลไม่ถูกต้องตามตราสารข้อบังคับ ก็เป็นเรื่องระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยที่จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญา ประกันภัย จำเลยร่วมซึ่งมิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาประกันภัยนั้นหาอาจยกมาเป็นเหตุให้ตนหลุดพ้นจากความรับผิดได้ไม่
หม้อแปลงไฟฟ้าที่ขนส่งซึ่งได้รับความเสียหายมีขนาดใหญ่ไม่ปรากฏว่า มีบริษัทหรือหน่วยงานแห่งใดในประเทศไทยเคยสร้างและซ่อมแซมมาก่อน เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นย่อมต้องจัดการซ่อมแซมให้ดีที่สุด เพราะหาก ซ่อมแซมไม่ดีแล้วการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนำไปใช้งานก็อาจกระทบกระเทือนถึงประชาชนโดยส่วนรวม ดังนั้น การที่บริษัท ซ. ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นบริษัทที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยว่าจ้างให้ออกแบบก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และจังหวัดราชบุรีพร้อมทั้งจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าและการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยตัดสินใจส่งหม้อแปลงไฟฟ้านั้นกลับไปให้บริษัท ฟ. ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ผลิตซ่อมแซม จึงเป็นเรื่องที่สมเหตุผลแล้ว และค่าเสียหายที่บริษัท ซ. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยสามารถเรียกร้องจากโจทก์ผู้รับประกันภัยได้นอกจากค่าซ่อมแซมแล้ว ย่อมรวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นอันจำเป็น เช่น ค่าขนส่งและค่าภาษีอากรในการส่งมอบหม้อแปลงไฟฟ้าไปซ่อมและส่งกลับมาติดตั้งยังสถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ด้วย
จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจรับจ้างขนส่งรับขนส่งสิ่งของจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยไปส่งยังสถานที่ต่าง ๆ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญารับจ้างขนส่งหม้อแปลงไฟฟ้ากับบริษัท ซ. ไปส่งที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขอบเขตของงานตามสัญญาจ้าง นับแต่จำเลยที่ 1 รับมอบสินค้าจากเรือไปส่งและขนถ่ายลงยังสถานที่ตั้งของแต่ละโครงการเป็นไปตามที่กำหนดโดยผู้ว่าจ้างคือที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยร่วมเพื่อประกันความเสียหายเฉพาะการขนถ่ายสินค้าในบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทยตามที่จำเลยร่วมกล่าวอ้าง ทั้งปรากฏว่าหลังจากเกิดเหตุแล้วจำเลยร่วมก็ได้ว่าจ้างบริษัท ศ. และบริษัท ย. เข้าสำรวจความเสียหายของหม้อแปลงไฟฟ้า และเป็นผู้ชำระเงินค่าสำรวจความเสียหายให้แก่บริษัททั้งสอง ซึ่งหากจำเลยร่วมเห็นว่าจำเลยร่วมไม่มีความรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยในกรณีดังกล่าวแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จำเลยร่วมจะต้องเข้ามาเป็นธุระดำเนินการสำรวจความเสียหาย สำหรับถ้อยคำว่า Terminal ในกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งแปลว่าสถานีนั้นมีความหมายได้ทั้งสถานีต้นทางและปลายทาง เมื่อพิจารณาถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยประกอบพยานหลักฐานและพฤติการณ์อื่นแล้ว สถานีปลายทางตามกรมธรรม์ประกันภัย ย่อมมีความหมายถึงสถานที่ที่จำเลยที่ 1 จะต้องนำหม้อแปลงไฟฟ้าไปส่งให้แก่ผู้ว่าจ้างที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์หาได้หมายความถึงการขนถ่ายสินค้าเฉพาะบริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทยตามที่จำเลยร่วมกล่าวอ้างไม่ ดังนั้นเมื่อหม้อแปลงไฟฟ้าเกิดความเสียหายขณะที่ยกลงจากรถยนต์บรรทุกเพื่อวางยังสถานที่ตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ซึ่งเป็นสถานีปลายทาง จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย