โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายโดยเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 2 เป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีอำนาจหน้าที่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2529 โจทก์ได้รับมอบอำนาจให้นายวิชัยอัศวหน้าเมือง เป็นตัวแทนของโจทก์ไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 161326 ต่อจำเลยที่ 2เป็นเครื่องหมายการค้ารูปสี่เหลี่ยม ภายในมีหัวสิงโต ใต้หัวสิงโตมีอักษรโรมันตัวเขียนคำว่า Lee man อ่านว่า ลีแมน ใช้กับสินค้าจำพวก 38 สินค้ากางเกงยีนส์ ซึ่งมีลักษณะบ่งเฉพาะ และไม่เป็นเครื่องหมายการค้าที่ต้องห้ามตามกฎหมายแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2530 จำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือถึงโจทก์ แจ้งว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 160477 และเลขที่ 160438ที่นายสนั่น กิ่งเงิน ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้เช่นกัน ให้โจทก์ไปตกลงกับนายสนั่นหรือนำคดีสู่ศาล โจทก์เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีลักษณะแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของนายสนั่นอย่างมาก โดยของโจทก์เป็นรูปหัวสิงโต ส่วนของนายสนั่นเป็นรูปหัวคนป่า ใต้รูปหัวสิงโตของโจทก์มีอักษรโรมันคำว่า Lee manส่วนใต้รูปหัวคนป่าเป็นอักษรโรมันคำว่า Bee รูปหัวคนป่าของนายสนั่นหันหน้าเกือบตรง ต่างจากหัวสิงโตซึ่งหันไปทางด้านซ้ายรอบนอกหัวคนป่ายังทำเป็นวงรอบไว้ทั้งยังไม่ปรากฏว่านายสนั่นได้คัดค้านหรือกล่าวอ้างว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของตนเหมือนหรือเกือบเหมือนกันการที่จำเลยไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2478 มาตรา 17 จึงไม่ชอบ ทั้งโจทก์ไม่อาจจะตกลงกับนายสนั่นได้ ขอศาลพิพากษาให้จำเลยรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 161326 ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1เพราะโจทก์ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1ก็มิได้มีอำนาจหน้าที่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ก่อนหน้าที่โจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า นายสนั่นได้ยื่นคำขอต่อจำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 160437 และคำขอเลขที่ 160438 เพื่อใช้กับสินค้าในจำพวก 38 ระบุรายการสินค้ากางเกงยีนส์ จำเลยที่ 2 ได้พิจารณาตรวจสอบเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของนายสนั่นแล้วเห็นว่าเกือบเหมือนกันใช้สำหรับสินค้าประเภทเดียวกัน ตัวอักษรโรมันคำว่า Lee กับ Beeมีลักษณะลวดลายประดิษฐ์ตัวอักษรของคำเกือบเหมือนกันและสำเนียงเรียกขานก็เกือบเหมือนกัน รูปหัวสิงโตของโจทก์กับหัวคนป่าของนายสนั่นหากพิมพ์ในแผ่นหนัง แล้วนำมาติดกับสินค้ากางเกงยีนส์แล้วจะทำให้ดูเหมือนกันมาก เห็นได้ว่าย่อมจะเกิดความสับสนหลงผิดแก่ผู้ซื้อว่ามีแหล่งกำเนิดและคุณภาพอันเดียวกันหรือเป็นของเจ้าของคนเดียวกัน เมื่อนายสนั่นได้นำเครื่องหมายการค้าของตนมาขอจดทะเบียนก่อนจึงย่อมมีสิทธิดีกว่าโจทก์ จำเลยจึงยังไม่อาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ โดยต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 17 ก่อนจำเลยที่ 2 ได้พิจารณาและสั่งการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยสุจริต ตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2529 โจทก์ได้ไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 161326 ต่อจำเลยที่ 2 เป็นเครื่องหมายการค้ารูปสี่เหลี่ยม ภายในมีหัวสิงโต ใต้หัวสิงโตมีอักษรโรมันตัวเขียนคำว่า Lee man อ่านว่า ลีแมน ใช้กับสินค้าจำพวก 38 สินค้ากางเกงยีนส์ ตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย จ.2ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2530 จำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 161326 เหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 160437 และคำขอเลขที่ 160438 ที่นายสนั่น กิ่งเงิน ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ใช้กับสินค้าจำพวก 38 ทั้งจำพวกและสินค้ากางเกงยีนส์เช่นกันโดยนายสนั่นได้ยื่นคำขอไว้เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2529จำเลยที่ 2 จึงดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวให้โจทก์ไม่ได้ จนกว่าจะได้ทำความตกลงกันเอง หรือนำคดีไปสู่ศาลตามเอกสารหมาย จ.3, จ.5 และ จ.6 (ท้ายคำฟ้อง)แต่โจทก์มิได้ไปทำความตกลงกับนายสนั่น และไม่ได้ฟ้องนายสนั่นต่อศาลเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าดังกล่าว กลับมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ ต่อมาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 160437 และคำขอเลขที่ 160438 ของนายสนั่น กิ่งเงิน มีรูปลักษณะคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้ก่อนอีกนายทะเบียนได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ยื่นคำขอทั้งสองราย ให้ไปตกลงกันเอง หรือนำคดีไปสู่ศาลแต่ไม่มีฝ่ายใดดำเนินการดังกล่าวนายทะเบียนจึงจำหน่ายคำจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของนายสนั่น กิ่งเงิน ตามคำขอเลขที่ 160437 และคำขอเลขที่ 160438เสียโดยประทับตราไม่รับจดทะเบียนตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.1และ ล.2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วตามหนังสือลงวันที่ 29 เมษายน 2530 ว่า คำขอของโจทก์หลุดพ้นจาก ต.ต.3(การไปตกลงกันเองหรือนำคดีไปสู่ศาลกับนายสนั่น กิ่งเงิน)ตามสำเนาภาพถ่ายเอกสารหมาย ล.4 และในระหว่างพิจารณาคดีนี้หลังจากเสร็จการสืบพยานโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนแล้วทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอระบุพยานจำเลยที่ 1 เพิ่มเติมโดยขอระบุคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 293/2530 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2530 เรื่อง เครื่องหมายการค้ารูปหัวสิงโต และคำว่า Lee man (คำขอเลขที่ 161326) อ้างว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เพิ่งนำเอกสารดังกล่าวมามอบให้โดยทนายจำเลยไม่ทราบว่ามีเอกสารดังกล่าว และเป็นเอกสารสำคัญที่จะแสดงว่านายทะเบียนไม่สามารถจดทะเบียนให้แก่โจทก์ได้ ทนายโจทก์คัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อสืบพยานโจทก์เสร็จไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารให้โจทก์ทราบล่วงหน้า 3 วันก่อนวันสืบและคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ตรงกับคำให้การ แต่ศาลชั้นต้นอนุญาตตามคำร้องของจำเลยที่ 1
พิเคราะห์แล้ว ก่อนอื่นเห็นสมควรวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องเสียก่อน แม้ว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แต่เพียงว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ และศาลอุทธรณ์ก็วินิจฉัยไปตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนด แต่จำเลยที่ 1 ได้ให้การต่อสู้ไว้ด้วยว่าจำเลยที่ 2 ได้พิจารณาและสั่งการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยสุจริต ตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายมิได้ทำละเมิดต่อโจทก์ จึงเท่ากับจำเลยที่ 2ได้ต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องนี้ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะมิได้วินิจฉัยไว้ ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามคำฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1โจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยเป็นกรมในรัฐบาล สังกัดกระทรวงพาณิชย์ มีนางสาวสุคนธ์ กาญจนาลัยเป็นอธิบดี มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการของจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนของทางราชการ และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ โดยโจทก์มิได้บรรยายให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่อะไรเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและจำเลยที่ 1 ได้กระทำการใดอันเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ส่วนจำเลยที่ 2 ก็ได้ความว่าโจทก์ไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามคำขอเลขที่ 161326 ต่อมาจำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่า เครื่องหมายการค้าเหมือนหรือเกือบเหมือนกับเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 160437 และคำขอเลขที่ 160438 ที่นายสนั่น กิ่งเงิน ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกับของโจทก์ โดยนายสนั่นได้ยื่นคำขอไว้ก่อนโจทก์ จึงดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายให้โจทก์ตามคำขอไม่ได้จนกว่าจะได้ทำความตกลงกันเองหรือนำคดีไปสู่ศาล กรณีจึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้พิจารณาและสั่งการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ที่บัญญัติว่า "ถ้ามีบุคคลหลายคนต่างคนต่างอ้างว่าเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอันเดียวกันหรือเกือบเหมือนกัน ใช้สำหรับสินค้าเดียวหรือชนิดเดียวกันและต่างคนต่างร้องขอจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น ๆท่านให้นายทะเบียนมีหนังสือส่งลงทะเบียนไปรษณีย์บอกไปยังผู้ขอจดทะเบียนทุกคนว่าขอซ้ำกัน ให้ตกลงกันเองหรือนำคดีไปสู่ศาล"ตามบทกฎหมายดังกล่าวเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ต่อไป โจทก์ต้องดำเนินการตามกฎหมาย2 ประการ คือทำความตกลงกันกับนายสนั่นเองว่าจะให้ฝ่ายใดเป็นฝ่ายได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวหรือนำคดีไปสู่ศาลโดยฟ้องนายสนั่นให้ศาลพิจารณาว่าโจทก์หรือนายสนั่นฝ่ายใดมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่ากันมิใช่มาฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเช่นคดีนี้ เพราะตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ปฏิบัติหน้าที่พิจารณาและสั่งการเกี่ยวกับคำขอของโจทก์ไม่ถูกต้องหรือกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 2 วินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เหมือนหรือเกือบเหมือนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของนายสนั่นและไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ จะว่าเป็นการไม่อบก็ไม่ได้ เพราะมาตรา 17 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 ได้ให้อำนาจจำเลยที่ 2 ไว้เช่นนั้นโจทก์จึงต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป จำเลยที่ 2 มิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นต่อไป"
พิพากษายืน