โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจำนวน 1,000,000 บาท ค่าชดเชยจำนวน 105,984 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 15,897 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 5,299 บาท เงินกองทุนเลี้ยงชีพส่วนของจำเลยจำนวน 110,045.95 บาท และเงินโบนัสจำนวน 40,582 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ก่อนวันนัดสืบพยาน โจทก์ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 26 ธันวาคม 2540 โต้แย้งคัดค้านคำสั่งกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลแรงงานกลางว่าคำให้การของจำเลยปฏิเสธแต่เพียงว่าไม่ต้องจ่ายเงินแก่โจทก์ตามฟ้องเพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่โดยการเรียกและรับเงินจากลูกค้าไม่มีรายละเอียดใด ๆ ทั้งสิ้นว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่เมื่อใด อย่างไร กับลูกค้ารายใด จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะนำพยานเข้าสืบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งรับคำให้การกับขอให้ศาลเพิ่มเติมประเด็นข้อพิพาทอีกหนึ่งประเด็นว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และหากเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมค่าเสียหายมีเพียงใดนั้น ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคำให้การของจำเลยฉบับวันที่ 19 ธันวาคม 2540 ให้การว่าโจทก์มีหน้าที่ในการประเมินราคาทรัพย์สินของลูกค้าจำเลยได้เรียกและรับเงินจากลูกค้าโดยไม่มีสิทธิ การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ที่โจทก์มีอยู่หาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับและคำสั่งของจำเลยอย่างร้ายแรง คำให้การของจำเลยดังกล่าวได้ปฏิเสธคำฟ้องโจทก์โดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยชอบไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้งหรือเลิกจ้างจำเลยที่ไม่เป็นธรรมส่วนเหตุแห่งการปฏิเสธจำเลยก็ให้รายละเอียดตามสมควรแล้วว่าโจทก์เรียกและรับเงินจากลูกค้าของจำเลยโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ที่โจทก์มีอยู่หาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น เป็นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่คำให้การของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งรับคำให้การของจำเลยและเพิ่มประเด็นตามคำร้องของโจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ข้อ 5.1 ว่าที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การกระทำผิดของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบกองทุนเลี้ยงชีพในส่วนของจำเลยเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์ฟ้องเรียกเงินกองทุนเลี้ยงชีพในส่วนของจำเลยที่สะสมไว้ให้โจทก์จำนวนหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยได้จ่ายเงินแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง ประเด็นจึงมีว่า จำเลยจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ครบถ้วนหรือไม่ และภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยแต่ทางนำสืบของจำเลยไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าจำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์ครบถ้วน และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีระเบียบกองทุนเลี้ยงชีพข้อใดระบุเหตุไม่ต้องจ่ายเงินกองทุนเลี้ยงชีพในส่วนที่จำเลยสะสมไว้ให้แก่ลูกจ้าง การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยดังกล่าว จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินกองทุนเลี้ยงชีพในส่วนของจำเลยที่สะสมไว้ให้แก่โจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่า เงินกองทุนเลี้ยงชีพที่โจทก์ฟ้อง จำเลยได้จ่ายให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทแต่เพียงว่า จำเลยได้จ่ายเงินกองทุนเลี้ยงชีพในส่วนของจำเลยให้แก่โจทก์แล้วหรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าการกระทำผิดของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิรับเงินสมทบกองทุนเลี้ยงชีพในส่วนของจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำให้การของจำเลย เป็นการมิชอบศาลแรงงานกลางจำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามประเด็นดังกล่าวข้างต้นใหม่
ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อ 5.2 ว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินโบนัสจากจำเลย จำเลยให้การว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยอย่างร้ายแรง ประเด็นข้อพิพาทในเรื่องเงินโบนัสนี้ จำเลยจึงมีภาระการพิสูจน์ว่าจำเลยมีระเบียบไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสเพราะลูกจ้างกระทำความผิดและเนื่องจากเงินโบนัสเป็นเงินพิเศษ ไม่มีบทบัญญัติไว้โดยเฉพาะในกฎหมายแรงงานลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับเงินโบนัสหรือไม่ขึ้นอยู่กับระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยในทางพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งใดกำหนดไว้ไม่ให้จ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างที่ทุจริตต่อหน้าที่หรือฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งอย่างร้ายแรงหรือกฎเกณฑ์ที่จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างแต่อย่างใด การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทำงานไม่ครบปีหรือตามเกณฑ์ที่จำเลยกำหนดโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสครึ่งปีหลังของปี 2540 จึงเป็นการวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นการนำข้อเท็จจริง นอกสำนวนมาวินิจฉัยนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินโบนัสจากจำเลยในปี 2540 ส่วนที่ขาดอีกครึ่งหนึ่งของเงินโบนัสคิดเท่าเงินเดือนของโจทก์จำนวน 2.65 เดือน เป็นเงิน 40,582 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่าสำหรับเงินโบนัสที่โจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยนั้น เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยการปลดออกจากงานฐานทุจริตต่อหน้าที่ซึ่งเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินโบนัสจากจำเลย คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสเนื่องจากโจทก์ถูกปลดออกจากงานฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ถูกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2540 จึงทำงานไม่ครบปีหรือตามเกณฑ์ที่จำเลยกำหนด โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสครึ่งปีหลังของปี 2540 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำให้การ เป็นการมิชอบศาลแรงงานกลางจำต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามประเด็นดังกล่าวข้างต้นใหม่
ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อ 5.3 ว่า เอกสารหมาย ล.7 เป็นเอกสารสำคัญที่จำเลยอ้างส่งศาลโดยไม่ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวแก่โจทก์ก่อนวันสืบพยานเป็นการนำสืบที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย ล.7 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 บัญญัติว่า"เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ การอ้างและการยื่นบัญชีระบุพยานของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้กระทำได้ภายในระยะเวลาที่ศาลแรงงานกำหนดตามที่เห็นสมควร" กับมาตรา 45 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี ให้ศาลแรงงานมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เองตามที่เห็นสมควร" จะเห็นได้ว่า คดีนี้จำเลยสืบพยานบุคคลปากนางสาวอาริยา ชุติพงศ์ โดยยื่นบัญชีระบุพยานศาลแรงงานกลางได้บันทึกคำให้การของนางสาวอาริยาที่เบิกความถึงเอกสารหมาย ล.7 ซึ่งศาลแรงงานกลางได้รับเอกสารดังกล่าวที่จำเลยอ้างส่งศาล และหมายเอกสารดังกล่าวไว้แล้วระบุเอกสารให้แยกเก็บ แม้จำเลยนำสืบพยานเอกสารดังกล่าวโดยไม่ส่งสำเนาให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันการที่ศาลแรงงานกลางรับเอกสารดังกล่าวไว้หมาย ล.7และได้วินิจฉัยถึงเอกสารดังกล่าวในคำพิพากษา แสดงว่าศาลแรงงานกลางเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในอันที่จะให้ได้ความแจ้งชัดในข้อเท็จจริงแห่งคดี จึงรับฟังเอกสารหมาย ล.7 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ใช้ในการพิจารณาคดีแรงงานโดยเฉพาะหาขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง ไม่
ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อ 5.4 ว่า จำเลยให้การปฏิเสธว่าจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินแก่โจทก์ตามฟ้องเพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งของจำเลยอย่างร้ายแรงโดยการเรียกรับเงินจากลูกค้าไม่มีรายละเอียดใด ๆ ว่าโจทก์รับเงินจากลูกค้ารายใด และเรียกรับเงินกันอย่างไร กี่รายซึ่งรายละเอียดดังกล่าวเป็นส่วนสำคัญที่จำเลยต้องให้การไว้โดยชัดแจ้งแต่จำเลยหาได้กล่าวไว้ในคำให้การไม่ คำให้การของจำเลยจึงไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีสิทธินำพยานเข้าสืบนั้น เห็นว่า จำเลยให้การว่า โจทก์มีหน้าที่ในการประเมินราคาทรัพย์สินของลูกค้าจำเลย โจทก์ได้เรียกและรับเงินจากลูกค้าโดยไม่มีสิทธิ การกระทำของโจทก์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่โดยอาศัยอำนาจหน้าที่ที่โจทก์มีอยู่หาประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้จะเห็นได้ว่า จำเลยได้ให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์ โดยกล่าวอ้างสาเหตุว่าโจทก์กระทำการเรียกและรับเงินจากลูกค้าโดยไม่ชอบอันเป็นการกระทำที่ทุจริตต่อหน้าที่ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรงถือได้ว่าเป็นการให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์โดยชัดแจ้งว่าจำเลยมีเหตุที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม หรือเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งได้อ้างสาเหตุแห่งการเลิกจ้างครบถ้วนแล้ว ส่วนการที่โจทก์เรียกเงินจากลูกค้ารายใดโจทก์รับเงินอย่างใด จำนวนกี่รายเป็นรายละเอียดที่จำเลยมีสิทธินำสืบพยานได้ในชั้นพิจารณาคำให้การดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นคำให้การที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่เกี่ยวกับเงินกองทุนเลี้ยงชีพและเงินโบนัสให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง