โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนางชด อ่อนวงษ์เมื่อระหว่างวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙ ถึงวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๑๙ วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นปลัดอำเภอประจำเขตพญาไทได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจัดการให้จำเลยที่ ๓ ยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ ๑ ลงชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของนางชดในใบมอบอำนาจตามแบบของกรมที่ดินให้จำเลยที่ ๓ มีอำนาจจดทะเบียนทำนิติกรรมโอนขายที่ดินของนางชดรวม ๑๗ โฉนด จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ได้ร่วมกันพิมพ์หัวแม่มือของนางชดลงในใบมอบอำนาจดังกล่าวรวมหลายฉบับ แล้วร่วมกันลงข้อความในหนังสือมอบอำนาจและให้จำเลยที่ ๕ ที่ ๖ ลงชื่อเป็นพยานรับรองในหนังสือมอบอำนาจนั้น แล้วจำเลยที่ ๑ ได้ลงชื่อและประทับตราเขตพญาไทรับรองโดยทุจริตว่า ใบมอบอำนาจดังกล่าวได้กระทำต่อหน้าตนและนางชดผู้มีสติสมบูรณ์ซึ่งเป็นความเท็จ ต่อมาจำเลยที่ ๓ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ได้นำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร แขวงพญาไท ขอโอนขายที่ดินของนางชดให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ รวม ๓ คราว คือ เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๑ มีนาคม และ ๒ มีนาคม ๒๕๑๙ รวม ๑๗ โฉนด เป็นเงิน ๑๒,๑๕๐,๐๐๐ บาท ซึ่งความจริงแล้วไม่มีการชำระเงินกันเลย เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อจึงจดทะเบียนโอนให้หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งหกได้ทำนิติกรรมขายที่ดินของนางชดดังกล่าวซึ่งมอบให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ รักษาไว้ แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของจำเลยทั้งหก หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งหกได้หลอกลวงนางชดให้พิมพ์นิ้วมือลงในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวโดยอาศัยความเจ็บป่วยและความชราอันเป็นการอ่อนแอแห่งจิตของนางชด (ขณะนั้นอายุ ๘๓ ปี) ต่อมาวันที่ ๑๙ เมษายัน ๒๕๑๙ นางชดถึงแก่กรรม ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๐, ๑๖๒ (๑) (๒), ๓๔๑, ๓๔๒ (๒),๓๔๖, ๓๕๒, ๓๕๓, ๘๓ และให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์
วันนัดไต่สวนมูลฟ้องศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายจึงให้งดไต่สวนมูลฟ้องและพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วข้อเท็จจริงตามฟ้องได้ความว่า ตามวันเวลาแห่งความผิดที่โจทก์กล่าวหาจำเลยทั้งหกได้ร่วมกันกระทำผิดต่อนางชดผู้ตาย ซึ่งเกิดขึ้นขณะที่นางชดผู้ตายยังมีชีวิตอยู่ หลังจากนั้นนางชดจึงถึงแก่กรรม และต่อมาโจทก์ได้เป็นผู้จัดการมรดกของนางชดผู้ตายตามคำสั่งของศาลแพ่ง ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า การฟ้องคดีอาญานั้นต้องเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) แต่คดีนี้จำเลยกระทำผิดขณะที่นางชดยังมีชีวิตอยู่ นางชดจึงเป็นผู้เสียหาย เมื่อนางชดตาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔, ๕, ๖ ไม่ได้ให้อำนาจโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกผู้เสียหายฟ้องคดีแทน แม้โจทก์จะเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกด้วยก็ตาม แต่สิทธิฟ้องคดีอาญาไม่ตกทอดมายังโจทก์ หากพิจารณาได้ความว่าทรัพย์มรดกของนางชดตกได้แก่โจทก์ก็ดี แต่ที่ดินที่เป็นมรดกนั้นเพิ่งตกมาเป็นของโจทก์ภายหลังวันที่จำเลยกระทำผิด โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายและไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย
พิพากษายืน.