ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "โจทก์อุทธรณ์เป็นข้อแรกว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำให้การและประเด็นข้อพิพาท เพราะศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อ 1ว่า "โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ รายงานเท็จ และมีพฤติการณ์ขาดความไว้วางใจหรือไม่" แต่ศาลแรงงานกลางกลับวินิจฉัยว่า โจทก์ลงลายมือชื่อและประทับตราล่วงหน้าในสมุดคู่ฝากเอกสารหมาย จ.7เป็นการผิดระเบียบโจทก์คืนเงิน 85,000 บาท ให้แก่นายอนุพงษ์ศิษฏคมน์ ไม่เก็บเงินไว้แล้วรายงานให้ผู้จัดการทราบ เป็นการไม่รักษาผลประโยชน์ของจำเลยในทางที่ถูกที่ควร การที่นายอนุพงษ์ศิษฏคมน์เบิกเงิน 200,000 บาทแล้วหลบหนีไปเป็นการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงนั้น เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นตามคำให้การและนอกประเด็นข้อพิพาทศาลแรงงานกลางไม่มีคำวินิจฉัยตามประเด็นที่กำหนดไว้ประการใดเลยพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางดังกล่าวนั้นมีผลเท่ากับว่าโจทก์มิได้ทุจริตต่อหน้าที่มิได้รายงานเท็จตามข้อกล่าวหาของจำเลย เป็นการวินิจฉัยตามประเด็นในคำให้การและประเด็นข้อพิพาทแล้ว ส่วนข้อวินิจฉัยที่ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรงนั้น เห็นว่า พฤติการณ์ของโจทก์นอกจากเป็นความผิดตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังถือว่าโจทก์มีพฤติการณ์ที่ขาดความไว้วางใจ หากให้โจทก์ปฏิบัติงานต่อไปจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่จำเลยได้พฤติการณ์ของโจทก์แม้มีประการเดียว แต่ถือเป็นความผิดสองประการในขณะเดียวกันได้คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางหาได้นอกประเด็นตามคำให้การ และนอกประเด็นข้อพิพาทตามที่โจทก์อุทธรณ์ไม่
โจทก์อุทธรณ์เป็นข้อที่สองว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่ ไม่ได้รายงานเท็จ จึงถือได้ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีสาเหตุแห่งการเลิกจ้าง การไม่รักษาผลประโยชน์ของจำเลย การประมาทเลินเล่อจะถือว่าเป็นสาเหตุแห่งการเลิกจ้างไม่ได้ ข้อนี้ เห็นว่าการที่โจทก์ไม่รักษาผลประโยชน์ของจำเลย และการประมาทเลินเล่อนั้นเป็นพฤติการณ์ที่โจทก์ขาดความไว้วางใจได้อยู่ในตัวตามที่ศาลฎีกาวินิจฉัยมาแล้วข้างต้นซึ่งเป็นสาเหตุแห่งการเลิกจ้างตามที่ระบุไว้ในคำสั่งเลิกจ้างท้ายคำฟ้องแล้ว โจทก์อุทธรณ์ในข้อนี้อีกว่า การที่โจทก์ไม่รักษาผลประโยชน์ของจำเลย กับการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงนั้น ตามระเบียบปฏิบัติงานภาคการพนักงานเอกสารหมาย ล.16 หาได้กำหนดให้โจทก์ต้องได้รับโทษไล่ออกไม่พิเคราะห์แล้วระเบียบฯ เอกสารหมาย ล.16 ข้อ 3.4.3 กำหนดว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรงข้อ 3.4.6 กำหนดว่ามีพฤติการณ์ที่ขาดความไว้วางใจ หรือมีมลทินมัวหมอง หากให้ปฏิบัติงานต่อไปจะเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่จำเลย ซึ่งความผิดสองข้อนั้น ข้อ 3.4 วรรคสองกำหนดโทษไว้ถึงขั้นไล่ออกได้อุทธรณ์ส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์เป็นข้อที่สามว่า ตามคำเบิกความของพยานทุกปากไม่มีผู้ใดยืนยันว่าโจทก์ทราบมาก่อนว่านายอนุพงษ์ ศิษฏคมน์เคยทุจริตต่อหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน พยานโจทก์ทุกปากกลับยืนยันว่าโจทก์ไม่ทราบคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ว่าโจทก์ทราบเรื่องนี้จึงขัดต่อพยานหลักฐานในสำนวน ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ทราบข้อที่นายอนุพงษ์ ศิษฏคมน์ เคยทุจริตต่อหน้าที่มาก่อนจริงหรือไม่ ศาลควรรับฟังคำพยานผู้ใด ฝ่ายใด เป็นดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นข้อเท็จจริงอุทธรณ์โจทก์ข้อนี้เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคแรก เพราะฉะนั้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้
โจทก์อุทธรณ์เป็นข้อที่สี่ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเพราะระเบียบปฏิบัติงานภาคการพนักงาน ภาค 2 การสวัสดิสงเคราะห์เอกสารหมาย ล.16 ข้อ 2.4.2 ไม่ว่าการออกจากงานเพราะกระทำการทุจริตในหน้าที่ หรือเพราะกระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเพราะเกียจคร้านไม่ตั้งใจปฏิบัติงานเป็นเหตุให้จำเลยเสียหาย พนักงานผู้นั้นจะไม่ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพก็ต่อเมื่อคณะกรรมการของจำเลยเห็นว่าไม่สมควรจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพให้ กรณีของโจทก์ คณะกรรมการของจำเลยมิได้มีความเห็นว่าไม่สมควรจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพให้โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพ 49,940.58 บาท พิเคราะห์แล้ว ระเบียบฯภาค 2 เอกสารหมาย ล.16 ข้อ 2.4.2 มีความว่า "ออกจากงานเพราะกระทำการทุจริตในหน้าที่ หรือเพราะกระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเพราะเกียจคร้านไม่ตั้งใจปฏิบัติงานเป็นเหตุให้ธนาคารต้องเสียหาย และคณะกรรมการธนาคารเห็นว่าไม่สมควรจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพให้" ศาลฎีกาเห็นว่า การทุจริตในหน้าที่ หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เป็นกรณีที่เห็นได้อย่างประจักษ์ชัดเจนอยู่ในตัวว่าเป็นความผิดขั้นร้ายแรง หาสมควรจะได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพไม่ ทั้งนี้ โดยไม่จำต้องมีผู้ใดจักต้องพิจารณาอีกชั้นหนึ่ง ส่วนการเกียจคร้านไม่ตั้งใจปฏิบัติงาน หาใช่เป็นความผิดขั้นร้ายแรงไม่ หากแต่เกิดความเสียหาย จำเลยจึงต้องให้ออกจากงาน ความผิดเพียงเท่านี้ยังไม่ร้ายแรง จึงเป็นการสมควรจักต้องพิจารณาเสียอีกชั้นหนึ่งว่าสมควรจะให้เงินทุนเลี้ยงชีพแก่พนักงานผู้นั้นหรือไม่ ความตอนท้ายที่ว่า "และคณะกรรมการธนาคารเห็นว่าไม่สมควรจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพให้" นั้น เป็นหลักเกณฑ์ที่นำไปประกอบการพิจารณาการกระทำผิดข้อที่เกียจคร้านไม่ตั้งใจปฏิบัติงานโดยเฉพาะเท่านั้น หาใช่นำไปพิจารณาการกระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่ และการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงสองข้อต้นด้วยตามที่โจทก์อุทธรณ์ไม่
โจทก์อุทธรณ์ในข้อนี้อีกประการหนึ่งว่า โจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายอย่างร้ายแรง มิใช่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงต้องตามความหมายของระเบียบดังกล่าวข้อ 2.4.2 ข้อนี้เห็นว่า เพราะความประมาทเลินเล่อของโจทก์ทำให้นายอนุพงษ์ศิษฏคมน์ เบียดบังเงินจากจำเลยได้ถึงสองคราว เป็นจำนวนถึง285,000 บาท ถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามระเบียบดังกล่าวข้อ 2.4.2 แล้ว อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์อุทธรณ์เป็นที่ข้อที่ห้าว่า โจทก์ถูกเลิกจ้างโดยถูกกลั่นแกล้งและกรรมการสอบสวนมิได้สอบสวนด้วยความเป็นธรรมศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุสามประการอันมีนัยว่าโจทก์ไม่ได้ถูกกลั่นแกล้ง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าตนถูกกลั่นแกล้งเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยให้ไม่ได้ตามเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้นส่วนการสอบสวนเป็นธรรมหรือไม่ ไม่มีประเด็นตามคำฟ้อง ไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลแรงงานกลาง ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้อีกเช่นกัน
อุทธรณ์โจทก์บางข้อฟังไม่ขึ้น บางข้อรับวินิจฉัยให้ไม่ได้ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว"
พิพากษายืน