โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 450,485.49 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 359,856 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2535 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเงินให้แก่โจทก์ครบถ้วน
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2535 โจทก์และจำเลยทำสัญญาซื้อขายเครื่องตัดหญ้าแบบล้อจักรยาน จำนวน 26 เครื่อง ราคาเครื่องละ 7,000 บาท รวมเป็นเงิน 182,000 บาท และเครื่องสูบน้ำเครื่องยนต์เบนซินจำนวน 100 เครื่อง ราคาเครื่องละ 7,000 บาท รวมเป็นเงิน 700,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายเลขที่ 009/2535 และ 010/2535 เอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ตามลำดับ ทั้งนี้โดยตกลงกันว่าจำเลยจะต้องส่งมอบเครื่องตัดหญ้าและเครื่องสูบน้ำดังกล่าวให้แก่โจทก์ ณ สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดมหาสารคาม เพื่อให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุว่าถูกต้องก่อนแล้วจำเลยจะต้องจัดส่งเครื่องตัดหญ้าและเครื่องสูบน้ำดังกล่าวไปยังสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอและกิ่งอำเภอที่ได้รับจัดสรรตามบัญชีรายละเอียดท้ายสัญญาภายในวันที่ 5 เมษายน 2535 โดยในการทำสัญญาดังกล่าวจำเลยได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารทหารไทย จำกัด จำนวน 9,100 บาท และ 35,000 บาทตามลำดับมามอบไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นการประกันการปฏิบัติตามสัญญา 2 ฉบับ นั้น และได้ตกลงว่าเมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญาแล้วหากจำเลยไม่ส่งมอบหรือส่งมอบสิ่งของทั้งหมดไม่ถูกต้องหรือไม่ครบจำนวน โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาโดยจำเลยยอมให้โจทก์ริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันเป็นจำนวนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแล้วแต่โจทก์จะเห็นสมควร หากโจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.20 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่จำเลยได้นำสิ่งของไปส่งให้แก่โจทก์จนถูกต้องครบถ้วนและในระหว่างที่มีการปรับนั้น ถ้าโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้ โจทก์จะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบหลักประกันหรือเรียกร้องจากธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันกับเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ราคาที่เพิ่มขึ้นตามกำหนดในสัญญานอกเหนือจากการปรับจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยก็ได้ ต่อมาเมื่อถึงวันที่ 5 เมษายน 2535 แล้วจำเลยไม่ส่งมอบเครื่องตัดหญ้าและเครื่องสูบน้ำให้แก่โจทก์ตามสัญญา โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 7 เมษายน 2535 เอกสารหมาย จ.6 และ จ.7แจ้งสงวนสิทธิที่จะเรียกร้องค่าปรับในขณะที่ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาทั้ง 2 ฉบับ นั้นไปยังจำเลย จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว ต่อมาโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 12 มิถุนายน2535 เอกสารหมาย จ.9 แจ้งให้จำเลยตอบรับว่าจะจัดส่งมอบพัสดุตามสัญญาซื้อขายให้แก่โจทก์หรือไม่หากจะส่งมอบให้กำหนดวันส่งมอบและตอบรับเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 3 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ได้รับหนังสือนั้น จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 23 กรกฎาคม2535 เอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 แจ้งโจทก์ว่าจำเลยยังไม่มีเครื่องตัดหญ้าและเครื่องสูบน้ำจำเลยรับรองว่าหากมีเครื่องตัดหญ้าและเครื่องสูบน้ำจะรีบจัดส่งให้โจทก์โดยด่วนและจำเลยยินดีให้ปรับตามสัญญา โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2535เอกสารหมาย จ.12 สอบถามจำเลยอีกครั้งหนึ่งว่า จะส่งมอบพัสดุตามสัญญาให้แก่โจทก์หรือไม่ หากจะส่งมอบให้กำหนดวันส่งมอบและตอบรับเป็นลายลักษณ์อักษรโดยด่วนจำเลยได้รับหนังสือนั้นแล้ว แต่เพิกเฉยต่อมาโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 24 กันยายน 2535เอกสารหมาย จ.14 แจ้งให้จำเลยจัดส่งเครื่องสูบน้ำและเครื่องตัดหญ้าตามสัญญาทั้ง2 ฉบับ ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2535 จำเลยได้รับหนังสือแล้ว แต่เพิกเฉยโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 26 ตุลาคม 2535 เอกสารหมาย จ.16 บอกเลิกสัญญาซื้อขายทั้ง 2 ฉบับ แก่จำเลย จำเลยได้รับหนังสือนั้นแล้วตามใบตอบรับของการสื่อสารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.17 หลังจากนั้นโจทก์ได้เรียกร้องให้ธนาคารทหารไทย จำกัดชดใช้เงินตามหนังสือค้ำประกันสัญญาซื้อขายทั้ง 2 ฉบับ เป็นเงินรวม 44,100 บาท ให้แก่โจทก์ธนาคารทหารไทย จำกัด ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2535 เอกสารหมาย จ.18 แจ้งให้จำเลยนำเงินค่าปรับตามสัญญาซื้อขายเครื่องตัดหญ้าวันละ 364 บาท นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2535 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2535 รวม 204 วัน เป็นเงิน 74,256 บาท และเงินค่าปรับตามสัญญาซื้อขายเครื่องสูบน้ำวันละ 1,400 บาท นับแต่วันที่ 6 เมษายน 2535 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม2535 จำนวน 204 วัน เป็นเงิน 285,600 บาท รวมเป็นเงินค่าปรับ 359,856 บาท มาชำระให้โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 ตามใบตอบรับของการสื่อสารแห่งประเทศไทย เอกสารหมายจ.19 แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระค่าปรับให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยเพียงข้อเดียวตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินค่าปรับจำนวน 359,856 บาท นับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2535 เป็นต้นไป มิใช่นับตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2535 เป็นต้นไปหรือไม่ ในปัญหานี้ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีหนังสือเอกสารหมาย จ.18 แจ้งให้จำเลยชำระค่าปรับภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ เป็นการทำนิติกรรมกำหนดการนับระยะเวลาเป็นอย่างอื่น ต่างไปจากที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสองบัญญัติไว้ โดยกำหนดให้นับวันที่รับหนังสือเป็นวันแรกแห่งระยะเวลา เมื่อจำเลยได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 จึงต้องนับวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 เป็นวันที่ 1 จำเลยต้องชำระค่าปรับภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2535 เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าปรับตามระยะเวลาดังกล่าว จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดนับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2535 แต่เนื่องจากเป็นการกำหนดระยะเวลาเป็นวัน เดือนและปีซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วย จึงต้องนับวันที่ 15 ธันวาคม 2535 เป็นวันเริ่มต้นแห่งระยะเวลา การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินค่าปรับจำนวน 359,856 บาท นับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2535 ทำให้เงินค่าดอกเบี้ยที่โจทก์มีสิทธิที่จะได้รับขาดไป 1 วัน เป็นเงิน 73.94 บาท นั้น เห็นว่า แม้คดีฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินค่าปรับจำนวน359,856 บาท ให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้มีหนังสือเอกสารหมาย จ.18 แจ้งให้จำเลยนำเงินค่าปรับจำนวนดังกล่าวมาชำระให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้นโดยจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 ตามใบตอบรับของการสื่อสารแห่งประเทศไทย เอกสารหมาย จ.19 ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์แจ้งจำเลยเช่นนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียวเป็นนิติกรรมกำหนดการนับระยะเวลาเป็นอย่างอื่นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/1 การนับระยะเวลา 15 วัน ในกรณีนี้จึงต้องนับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง ซึ่งห้ามมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มการในวันนั้นเองตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับหนังสือเอกสารหมาย จ.18 ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 ตั้งแต่เวลาใด จึงถือไม่ได้ว่าได้เริ่มการอะไรในวันนั้นตั้งแต่เวลาอันเป็นกำหนดเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี ต้องห้ามมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมคำนวณเข้าด้วย การนับระยะเวลา 15 วัน ตามหนังสือดังกล่าวจึงต้องเริ่มนับ 1 ในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 1 ธันวาคม 2535 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/3 วรรคสอง และครบกำหนด 15 วันในวันที่ 15 ธันวาคม 2535 จำเลยจึงต้องชำระเงินค่าปรับให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2535 เมื่อจำเลยไม่ชำระเงินค่าปรับให้แก่โจทก์ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ตามมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตั้งแต่วันที่ 16ธันวาคม 2535 เป็นต้นไป ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนับแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2535 เป็นต้นไปนั้น ชอบแล้ว"
พิพากษายืน