ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการพิจารณาคดีตาม ป.วิ.พ. เกี่ยวกับการส่งสำเนาอุทธรณ์เพื่อแก้อุทธรณ์ ทำให้ต้องย้อนสำนวน
โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันรับผิดฐานละเมิด เนื่องจากจำเลยที่ 1 ผู้เยาว์ขับรถบรรทุกน้ำมันโดยประมาทเลินเล่อชนท้ายรถโจทก์ได้รับความเสียหาย โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดในฐานะบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมรับผิดในฐานะนายจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งห้าให้การต่อสู้และบรรยายในคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความว่าเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยร่วมที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยร่วมที่ 2 และขอให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) เพื่อวินิจฉัยว่าความประมาทเลินเล่อเกิดจากฝ่ายใด และเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้หมายเรียกแล้ว จำเลยร่วมที่ 2 ให้การปฏิเสธว่า จำเลยร่วมที่ 1 ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว ในขณะเดียวกันก็ให้การต่อสู้โจทก์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ซึ่งเป็นการโต้แย้งทั้งโจทก์และจำเลยทั้งห้า แสดงให้เห็นว่าทั้งสามฝ่ายต่างโต้แย้งเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งห้ายังคงอุทธรณ์อ้างว่า เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยร่วมที่ 1 ส่วนจำเลยร่วมที่ 2 อุทธรณ์ว่า เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 แต่ฝ่ายเดียว จำเลยร่วมที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมที่ 2 นอกจากจะโต้แย้งโจทก์แล้วยังโต้แย้งและเป็นปฏิปักษ์ต่อกันและกันด้วย ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แต่ละฝ่ายแก้อุทธรณ์ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าและจำเลยร่วมที่ 2 โดยไม่สั่งให้จำเลยแต่ละฝ่ายส่งสำเนาให้อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อยื่นคำแก้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 235 เป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา ศาลฎีกาชอบที่จะยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วย้อนสำนวนให้กลับไปดำเนินการใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2), 247 และปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่ได้มีการยกขึ้นว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งห้าก็มีสิทธิที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง