โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับจ้างบริษัทไม้อัดไทย จำกัด ขนส่งไม้อัดจากคลังสินค้าของโรงงานไม้อัดไทยบางนาไปส่งขึ้นเรือสินค้าต่างประเทศที่ท่าเรือของจำเลยที่ 3 หรือบริเวณลำแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2526 โจทก์ได้จ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งไม้อัดแผ่นเรียบขนาดต่าง ๆ 200 หีบห่อ จำนวน20,000 แผ่น ราคา 1,228,565.60 บาท จากโรงงานไม้อัดของบริษัทไม้อัดไทย จำกัด ดังกล่าว ไปทำพิธีการศุลกากรณ กองตรวจสินค้าขาออก กรมศุลกากร และหลังจากเสร็จพิธีการดังกล่าวแล้วให้ขนส่งสินค้าดังกล่าวไปขึ้นเรือสินค้าต่างประเทศจำเลยที่ 1 ได้นำเรือฉลอมพร้อมด้วยเรือลากจูง มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมไปบรรทุกสินค้า เมื่อทำการบรรทุกสินค้าดังกล่าวลงเรือฉลอมแล้ว จำเลยที่ 2 ได้ลากจูงเรือฉลอมไปยังกองตรวจสินค้าขาออกเพื่อปฏิบัติพิธีการศุลกากร จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3และเป็นผู้ควบคุมเรือลากจูง (เรือทัก) หมายเลข 10 ของจำเลยที่ 3ได้ขับเรือลากจูงดังกล่าวแล่นมาด้วยความเร็วสูงมาก และแล่นแซงเรือลากจูงของจำเลยที่ 2 ไปด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำและคลื่นได้พัดน้ำสาดเข้าไปในเรือฉลอมดังกล่าว และด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 เช่นเดียวกัน ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอันเป็นปกติวิสัยของผู้ที่ประกอบอาชีพในการลากจูงเรือ ขณะเมื่อเรือฉลอมดังกล่าวได้เอียงตัวลง จำเลยที่ 2 แทนที่จะหยุดเรือลากจูงเพื่อให้เรือฉลอมมีโอกาสตั้งลำขึ้นใหม่ จำเลยที่ 2 กลับเร่งเครื่องเรือลากจูงทำให้เรือฉลอม พลิกคว่ำลง สินค้าไม้อัดของผู้ว่าจ้างโจทก์เสียหายจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในฐานะผู้ใช้สิทธิไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 ได้กู้เรือลำเลียงขึ้นเหนือน้ำเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2526 ปรากฏว่าสินค้าไม้อัดได้รับความเสียหายเพราะเปียกน้ำจำนวน 14,400 แผ่นและสูญหายไปเนื่องจากหีบไม้อัดแตก ไม้อัดลอยน้ำหายไปจำนวน5,600 แผ่น โจทก์ได้มอบไม้อัดจำนวน 14,400 แผ่น คืนให้แก่บริษัทไม้อัดไทย จำกัด บริษัทไม้อัดไทย จำกัด ได้ประมูลขายทอดตลาดไม้อัดดังกล่าวได้เงิน 442,021 บาท เมื่อหักออกจากราคาไม้อัดดังกล่าวแล้ว โจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทไม้อัดไทย จำกัด จำนวน 783,544.60 บาท โจทก์ได้มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ชำระโจทก์จึงต้องชำระค่าเสียหาย ดังกล่าวแก่บริษัทไม้อัดไทย จำกัดตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้อง โจทก์จึงเข้าสวมสิทธิในฐานะเจ้าหนี้ใช้สิทธิไล่เบี้ยเรียกร้องให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์และการที่จำเลยไม่ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดนัดชำระหนี้ โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2526 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 42,199.38 บาทขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 825,743.98บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน783,544.60 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยที่ 1ที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นเจ้าของเรือลากจูง และไม่ได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 รับงานจากโจทก์ในลักษณะรับจ้างขนส่งและได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ไปอีกต่อหนึ่ง เหตุคดีนี้จำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำโดยประมาท กล่าวคือจำเลยที่ 2 ลากจูงเรือลำเลียง 0295 มาตามร่องน้ำฝั่งทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตามที่กฎหมายกำหนดโดยถูกต้องไปทางท่าเรือคลองเตย และก่อนถึงกองตรวจสินค้าขาออก กรมศุลกากร จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 และเป็นผู้ควบคุมและรับผิดชอบเรือลากจูงหมายเลข 10ของจำเลยที่ 3 ขับเรือดังกล่าวแล่นมาตามทางเดียวกับเรือที่จำเลยที่ 2 ขับและลากจูงมา อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 4 และด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยที่ 4จำเลยที่ 4 ได้เร่งความเร็วสูงเพื่อแล่นแซงเรือที่จำเลยที่ 2 ขับทั้ง ๆ ที่ได้มีผู้ให้สัญญาณเพื่อให้เรือของจำเลยที่ 4 ลดความเร็วแต่เรือของจำเลยที่ 4 หาได้ลดความเร็วลงไม่ เป็นเหตุให้เกิดคลื่นใต้น้ำมากระทบกับเรือลำเลียงหมายเลข 0295 ซึ่งบรรทุกไม้อัดมาทางด้านขวา 2 ครั้ง เรือลำเลียงดังกล่าวจึงคว่ำลงทันที จำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังแล้วแต่ไม่อาจปกป้องอันตรายมิให้เกิดขึ้นได้ จำเลยที่ 2 ไม่ได้เร่งเครื่องเรือให้มีความเร็วสูงขึ้น และไม่อาจหยุดเรือลากจูงลงทันทีทันใดเพราะคลื่นจากเรือลากจูงที่จำเลยที่ 4 ควบคุมได้เข้าปะทะเรือลำเลียงดังกล่าวโดยเร็วและทันที ส่วนไม้อัดที่บรรทุกไปในเรือลำเลียงดังกล่าวมัดไว้เป็นหีบห่อ แข็งแรงมาก และมีสิ่งปกคลุมแน่หนา น้ำซึมเข้าไปไม่ถึงเมื่อเรือลำเลียงจมแล้วได้มีการกู้เรือทันที ไม้อัดดังกล่าวจึงไม่เปียกน้ำและสูญหาย ไม้อัดที่โจทก์อ้างว่าเปียกน้ำได้นำไปประมูลขายทอดตลาดนั้น โจทก์และบริษัทไม้อัดไทย จำกัด คบคิดกันกดราคาให้ต่ำลงไม้อัดดังกล่าวน่าจะขายได้มากกว่านั้นความเสียหายน่าจะไม่ถึง 783,544.60 บาท โจทก์ยังไม่ได้ชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัทไม้อัดไทย จำกัด เอกสารท้ายฟ้องโจทก์กับบริษัทไม้อัดไทย จำกัด ทำเอกสารเท็จขึ้นมา โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องและเหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าวเป็นเพราะความผิดและประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง โจทก์ทราบดีว่าการขนส่งสินค้าดังกล่าวจะต้องมีประกันภัย จำเลยที่ 1 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้ว โจทก์ต้องประกันภัยสินค้าของโจทก์เอง จำเลยที่ 1 ไม่ขอรับผิดชอบต่อความเสียหายด้วยเหตุสุดวิสัยใด ๆ ทั้งสิ้น เว้นความเสียหายกรณีเดียวคือคนงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลักขโมย ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 3 ที่ 4ให้การว่า จำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่ควบคุมเรือลากจูงหมายเลข 10แต่เป็นสรั่งเรือดังกล่าว วันเกิดเหตุเรือลากจูงหมายเลข 10ได้ไปดันเรือต่างประเทศเข้าจอดเทียบท่า 16 เอ. เรียบร้อยเมื่อเวลา 17 นาฬิกา จึงได้แล่นกลับไปจอดที่โรงพักสินค้า 1ซึ่งเป็นท่าจอดเรือดัวกล่าวเมื่อเวลา 17.35 นาฬิกา ตลอดเวลาที่เรือดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่อยู่นั้น ไม่ปรากฏว่ามีเรือบรรทุกสินค้าล่มและขณะที่เรือดังกล่าวแล่นกลับท่าจอดเรือได้ใช้ความเร็วประมาณ4 นอต ถือว่าเป็นความเร็วค่อนข้างต่ำ สำหรับเรือที่แล่นตามกันด้วยความเร็วดังกล่าวไม่อาจจะทำให้เกิดคลื่นซึ่งจะมีขนาดใหญ่พอที่จะทำให้เรือบรรทุกสินค้าซึ่งบรรทุกสินค้าตามปกติล่มได้ และในการแล่นของเรือดังกล่าวก็ได้แล่นกลางลำน้ำเจ้าพระยาค่อนไปทางตะวันตกเพราะเป็นเรือใหญ่ เรือบรรทุกสินค้าของจำเลยที่ 2จะต้องแล่นชิดฝั่งตะวันตกแม่น้ำตอนที่เกิดเหตุกว้างประมาณ300-400 เมตร เรือลากจูงหมายเลข 10 จะต้องแล่นแซงเรือจำเลยที่ 2แล้ว จะต้องแล่นห่างไม่น้อยกว่า 100 เมตร เรือลากจูงหมายเลข 10ไม่อาจทำให้เรือจำเลยที่ 2 ล่มได้ เหตุที่เรือจำเลยที่ 2 ล่มจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำโดยประมาท กล่าวคือจำเลยที่ 2 บรรทุกสินค้าไม้อัดสูงเกินปกติมาก มิได้ใช้เชือกผูกรัดไม้อัดดังกล่าวให้ตรึงอยู่กับที่ ไม้อัดดังกล่าวเคลื่อนที่ได้ จึงเป็นเหตุให้เรือจำเลยที่ 1 เสียการทรงตัว เมื่อเรือจำเลยที่ 2 ลากไปด้วยความเร็วและด้วยความประมาทเลินเล่อ เรือจำเลยที่ 1 จึงล่มลง โจทก์หามีสิทธิไล่เบี้ยเอากับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ส่วนสินค้าไม้อัดนั้นจะเสียหายเท่าใด คิดเป็นเงินเท่าใดจำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่ทราบและไม่รับรองโจทก์ไม่เคยแจ้งให้ทราบหากโจทก์จะเสียหายก็ไม่ถึง 14,400 แผ่นและหายไม่ถึง 5,600 แผ่นค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องรับผิดต่อบริษัทไม้อัดไทย จำกัดควรจะต้องน้อยกว่า 783,544.60 บาท เพราะไม้อัดที่ประมูลขายทอดตลาดจำนวน 14,400 แผ่นนั้น ต้องขายได้ราคามากกว่า 442,021 บาท หากบริษัทไม้อัดไทย จำกัด ผู้ขาย จะตั้งราคาขายและตกลงขายให้ผู้ซื้อให้สูงกว่าจำนวนดังกล่าว โจทก์จะชำระหนี้จำนวน 783,544.60บาท ให้แก่บริษัทไม้อัดไทย จำกัด แล้วหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใดจำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่ทราบและไม่รับรอง เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 13-17จะมีอยู่จริงหรือไม่ จำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่ทราบและไม่รับรอง โจทก์ไม่เคยทวงถามให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ชำระหนี้ แสดงว่าโจทก์แน่ใจแล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำให้โจทก์เสียหาย และแม้โจทก์จะใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทไม้อัดไทย จำกัด ไปแล้วก็หาทำให้โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิไม่ เพราะต้องเป็นผู้รับผิดต่อบริษัทไม้อัดไทย จำกัด อยู่แล้ว จำเลยที่ 3 ที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4ร่วมกันชำระเงิน 773,981.18 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์ชำระค่าเสียหาย นับแต่วันที่ลงในใบเสร็จรับเงินแต่ละฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.13 (15 ฉบับ) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2ส่วนที่โจทก์ขอเกินมาให้ยกเสีย จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์รับจ้างบริษัทไม้อัดไทย จำกัด ขนไม้อัดจากโกดังของผู้ว่าจ้างที่แขวงบางนา เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ไปส่งขึ้นเรือสินค้าต่างประเทศที่จอดอยู่ที่ท่าเรือของจำเลยที่ 3 วันเกิดเหตุคดีนี้โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งไม้อัดจากโกดังของบริษัทไม้อัดไทยจำกัด ที่บางนาไปส่งขึ้นเรือสินค้าต่างประเทศซึ่งจอดอยู่ที่ท่าโรงพักสินค้าหมายเลข 8 ของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ควบคุมเรือยนต์ลากจูงหมายเลขทะเบียนอ่างทอง 004 ไปลากจูงเรือลำเลียงเหล็กท้องแบนหมายเลขทะเบียนปท-0295 ซึ่งเป็นของนางเมี้ยน จุ้ยพลับ หลังจากนำไม้อัด 200 หีบจำนวน 20,000 แผ่น ราคา 1,228,565.60 บาท ลงเรือลำเลียงเหล็กดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ใช้เรือยนต์ลากจูงเรือลำเลียงเหล็กไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อจำเลยที่ 2 ลากจูงเรือลำเลียงเหล็กไปถึงที่เกิดเหตุ เรือลำเลียงเหล็กจมลง จำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ควบคุมเรือลากจูงหมายเลข 10ของจำเลยที่ 3 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 มีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาว่าจำเลยที่ 4 ควบคุมเรือโดยประมาทเป็นเหตุให้เรือลำเลียงเหล็กซึ่งบรรทุกไม้อัดจมหรือไม่ จำเลยที่ 3และที่ 4 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่เพียงใด พิเคราะห์แล้ว ในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 4 ควบคุมเรือโดยประมาทหรือไม่นั้น นางบานเย็น สุภาพ และจำเลยที่ 2พยานจำเลยที่ 1 ที่ 2 เบิกความว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ควบคุมเรือยนต์ลากจูงเรือลำเลียงเหล็กบรรทุกไม้อัดมาถึงบริเวณหน้าบ้านพลอากาศเอกทวี นางบานเย็นเห็นเรือทักหมายเลข 10 ของจำเลยที่ 3แล่นตามหลังมาด้วยความเร็ว นางบานเย็นบอกให้จำเลยที่ 2เบาเครื่องเรือทักดังกล่าวยังคงแล่นด้วยความเร็วคงเดิม แล้วแซงเรือลำเลียงเหล็กและเรือยนต์ลากจูงไปห่างประมาณ 30 เมตรคลื่นได้กระแทกเรือลำเลียงเหล็กจมลง เห็นว่า เหตุเกิดเวลากลางวัน นางบานเย็นและจำเลยที่ 2 ย่อมมองเห็นเรือที่แล่นแซงเรือลำเลียงเหล็กและเรือยนต์ได้ชัด นอกจากนี้นางเมี้ยนเจ้าของเรือลำเลียงเหล็กที่บรรทุกไม้อัดก็เบิกความสนับสนุนว่าเห็นเรือของจำเลยที่ 3 แล่นแซงเรือลำเลียงเหล็กของพยานห่างประมาณ50 เมตร ลูกคลื่นที่เกิดจากเรือของจำเลยที่ 3 กระทบเรือลำเลียงเหล็กของพยานจมลง ยิ่งกว่านั้นนายไพฑูรย์ อ่อนอรุณพยานจำเลยที่ 3 ที่ 4 ก็เบิกความว่า เห็นเรือลำเลียงเหล็กกำลังจมและเห็นเรือของจำเลยที่ 3 แล่นอยู่ทางด้านฝั่งตะวันออกห่างเรือเหล็กที่จมประมาณ 250 เมตร ข้ออ้างของจำเลยที่ 3 ที่ 4ที่ว่าไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นขณะที่เรือของจำเลยที่ 3 แล่นกลับเท่านั้น ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อ คำพยานของจำเลยที่ 1 ที่ 2จึงสนับสนุนคำเบิกความของนายสมโภชน์ โสภิณเวทยา พยานโจทก์รับฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุเรือลำเลียงเหล็กที่บรรทุกไม้อัดจะจมมีเรือทักหมายเลข 10 ของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำเลยที่ 4 ลูกจ้าง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุม แล่นแซงเรือลำเลียงเหล็กดังกล่าวลูกคลื่นที่เกิดจากเรือทักหมายเลข 10 ของจำเลยที่ 3 ได้กระแทกเรือลำเลียงเหล็กจมลง การกระทำของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ควบคุมเรือดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยประมาท จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4ฎีกาว่าเหตุแห่งความประมาทฝ่ายเรือลำเลียงเหล็กซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมเรือลากจูงดังกล่าวมีส่วนร่วมประมาทด้วยได้ความจากนางเมี้ยนพยานจำเลยที่ 1 ที่ 2 เบิกความว่าพยานนำเรือลำเลียงเหล็กรับจ้างจำเลยที่ 1 ขนไม้อัดที่โรงงานบางนาในการบรรทุกไม้อัดแต่ละครั้งก็บรรทุกมีน้ำหนักเท่ากันหรือมากกว่านี้ ไม่ปรากฏว่ามีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นเลยเห็นว่านางเมี้ยนเจ้าของเรือลำเลียงเหล็กเป็นผู้ไปควบคุมการขนไม้อัดลงบรรทุกเรือลำเลียงเหล็กของนางเมี้ยนเอง และรับจ้างบรรทุกไม้อัดมาหลายครั้งแล้ว นางเมี้ยนย่อมทราบว่าเรือลำเลียงเหล็กสามารถบรรทุกน้ำหนักได้เท่าใด และนางเมี้ยนเบิกความตอบคำถามค้านว่า เรือลำเลียงเหล็กของพยานบรรทุกน้ำหนักได้ถึง 300 ตัน คำเบิกความของนางเมี้ยนน่าเชื่อ จำเลยที่ 3ที่ 4 นำสืบลอย ๆ ว่าเรือลำเลียงเหล็กของนางเมี้ยนบรรทุกน้ำหนักได้เพียง 109 ตัน ไม่มีพยานเอกสารเกี่ยวกับเรือลำเลียงเหล็กดังกล่าวสนับสนุน จึงไม่น่าเชื่อว่าเรือลำเลียงเหล็กของนางเมี้ยนสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ไม่ถึง 300 ตัน เมื่อจำเลยที่ 3 ที่ 4 ยอมรับว่าไม้อัดที่บรรทุกมาในวันเกิดเหตุมีน้ำหนัก180 ตัน ไม้อัดที่บรรทุกเรือลำเลียงเหล็กมาจึงไม่หนักและทำให้เรือเพรียบ จำเลยที่ 2 จึงมิได้มีส่วนร่วมกระทำประมาทเพราะเหตุบรรทุกน้ำหนักมากเกินไปตามที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 อ้าง
ในปัญหาที่ว่า ค่าเสียหายมีจำนวนเท่าใดนั้น จำเลยที่ 3ที่ 4 ฎีกาโต้เถียงว่า บริษัทไม้อัดไทย จำกัด ประมูลขายไม้อัดไปเป็นเงิน 442,021 บาท เป็นราคาที่ถูกไปนั้น เห็นว่า ไม้อัดเมื่อถูกน้ำย่อมเสื่อมสภาพไปในตัว และราคาที่บริษัทไม้อัดไทยจำกัด ขายไปนั้นเป็นราคาที่บริษัทไม้อัดไทย จำกัด ประมูลขายทอดตลาด มิได้กำหนดหรือตกลงขายให้พ่อค้าคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ จำเลยที่ 3 ที่ 4 ไม่นำสืบให้เห็นว่าบริษัทไม้อัดไทย จำกัด ประมูลขายไม้โดยไม่สุจริต จึงฟังได้ว่าบริษัทไม้อัดไทย จำกัด ขายไม้อัดไปในราคาที่เหมาะสมแล้ว
ในปัญหาที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 อ้างในฎีกาว่า จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดในฐานะผู้รับขนด้วยนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดในฐานะผู้ขนส่ง และปัญหาดังกล่าวจำเลยที่ 3 ที่ 4 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาตั้งแต่ศาลชั้นต้นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ในปัญหาที่ว่า โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิหรือไม่ เห็นว่าโจทก์รับจ้างขนส่งไม้อัดให้แก่บริษัทไม้อัดไทย จำกัด เมื่อเกิดความเสียหายแก่ไม้อัดที่โจทก์เป็นผู้รับขนส่ง โจทก์ย่อมจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทไม้อัดไทย จำกัด ตามสัญญาเมื่อโจทก์ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัทไม้อัดไทย จำกัด แล้วโจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัทไม้อัดไทย จำกัด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ผู้กระทำละเมิด และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 4 ให้ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการละเมิดของจำเลยที่ 4 ได้"
พิพากษายืน