โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2515 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 5 ได้ร่วมกันกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ.2497 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ.2497 มาตรา 10, 14, 59, 60พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 ในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสาร พ.ศ. 2507 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยทั้ง 5 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า รถยนต์ของจำเลยที่ 1 หมายเลข ช.ย.00626และ ช.ย. 00542 เป็นรถยนต์ที่ได้รับใบอนุญาตการขนส่งประจำทางเส้นทางสายอื่น แต่กลับติดป้ายรับส่งคนโดยสารและทำการขนส่งเพื่อสินจ้าง จึงเป็นความผิดฐานประกอบการขนส่งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ส่วนรถยนต์คันหมายเลข ช.ย.00647 ได้รับใบอนุญาตขนส่งสาธารณะวิ่งทับเส้นทางของบริษัทอื่นเป็นการแข่งขัน พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 10, 14, 59, 60 พระราชกฤษฎีกาให้ใช้พระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2507 มาตรา 4 สำหรับความผิดตามมาตรา 10 (และมาตรา 59) ให้เรียงกระทงลงโทษปรับกระทงละ 500 บาท ส่วนความผิดตามมาตรา 14 (และมาตรา 60)ปรับคนละ 500 บาท ข้อหาสำหรับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้ยก เพราะไม่มีส่วนร่วมรู้เห็น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้น แต่เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดคราวเดียวและกรรมเดียว เป็นความผิดกระทงเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท พิพากษาแก้ให้ลงโทษบทหนักที่สุดตามมาตรา 10, 59 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับคนละ 1,500 บาท
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษเป็นกระทงความผิด
ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่า รถยนต์ของจำเลยที่ 1 อันเป็นเครื่องอุปกรณ์การขนส่งซึ่งถูกนำไปใช้ในการกระทำผิดมีอยู่ 3 คัน รถคันหมายเลข ช.ย.00647 เป็นรถรับจ้างพิเศษโดยได้รับใบอนุญาตการขนส่งสาธารณะ ต้องวิ่งรับจ้างในลักษณะเหมาทั้งคัน แต่กลับไปวิ่งรับคนโดยสารและเก็บค่าโดยสารเป็นการทับเส้นทางรถประจำทางในสัมปทานของบริษัทอื่น ซึ่งเป็นลักษณะของการแข่งขัน จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการขนส่ง พ.ศ. 2497 มาตรา 14 ส่วนรถอีก 2 คันเป็นรถที่สังกัดอยู่ในสัมปทานรถประจำทางของจำเลยที่ 1 ซึ่งต้องวิ่งในเส้นทางชัยภูมิ-ห้วยหว้า แต่กลับวิ่งรับส่งคนโดยสารและเก็บค่าโดยสารนอกเส้นทางที่กำหนด จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อความในมาตรา 10
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามมาตรา 4 เกี่ยวกับบทนิยามคำว่าการขนส่งและเครื่องอุปกรณ์การขนส่ง กับมาตรา 10 และมาตรา 14 นั้น เมื่อพิจารณาถึงความมุ่งหมายตลอดจนความในพระราชกฤษฎีกาที่โจทก์อ้างอิงแล้ว เห็นได้ว่ากฎหมายประสงค์ควบคุมการขนส่งคนโดยสารโดยรถยนต์โดยสารเพื่อป้องกันมิให้เกิดการแก่งแย่งกับรถโดยสารประจำทาง ซึ่งจะทำให้เกิดอุบัติเหตุยังความเสียหายต่อทรัพย์สินและชีวิตของบุคคลทั่วไปฉะนั้น รถยนต์โดยสารแต่ละคันย่อมเป็นองค์สำคัญแห่งความผิด กล่าวคือเมื่อออกรับคนโดยสารเพื่อเก็บค่าโดยสารไม่ว่าในเส้นทางใด ต้องถือว่าการขนส่งของรถแต่ละคันเป็นความผิดต่างหากจากกัน หาใช่เป็นการร่วมกระทำความผิดระหว่างรถทุกคันอย่างใดไม่ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป
พิพากษาแก้ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุกประการ