โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔, ๖, ๑๓ ทวิ, ๖๒, ๘๙, ๑๐๖, ๑๐๖ ทวิ, ๑๑๖ ป.อ. มาตรา ๘๓, ๙๑ ริบของกลางทั้งหมดยกเว้นรถยนต์กระบะมิตซูบิชิ สีน้ำตาลทอง หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ค - ๗๖๕๘ กรุงเทพมหานคร พร้อมกุญแจ ๑ ดอก ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๘๙ ประกอบด้วย พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓, ๖ (๑) ป.อ. มาตรา ๘๓, ๙๐ จำคุก ๒๐ ปี ริบของกลางทั้งหมดยกเว้นรถยนต์กระบะมิตซูบิชิ คันหมายเลขทะเบียนป้ายแดง ค - ๗๖๕๘ กรุงเทพมหานคร พร้อมกุญแจ ๑ ดอก ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓ ทวิ วรรคหนึ่ง, ๘๙ ประกอบ ป.อ. มาตรา ๘๖ ให้ลงโทษจำคุก ๑๓ ปี ๔ เดือน ข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๖ เจ้าพนักงานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้ร่วมกันจับกุมนายคำภีร์ งามขำ นางสาวน้อยหรือจิตตรา ทองใบ นางใจ ดาบุตรหรือแสนบุตรดี นายเส่ง เกษมศรีสุขสง่า นายไพสาน บัวทอง นางอร บัวทอง นางสุภาภรณ์ จิตตั้งบุญญา และนายวีระภัทร อินขำเครือ รวมแปดคนในข้อหาร่วมกันผลิตและมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตพร้อมเมทแอมเฟตามีนบริสุทธิ์น้ำหนัก ๗๐.๒๒ กิโลกรัม อีเฟดรีนบริสุทธิ์น้ำหนัก ๖๓.๓๓ กิโลกรัม พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตกับรถยนต์หมายเลขทะเบียนป้ายแดง ค - ๗๖๕๘ กรุงเทพมหานคร เป็นของกลาง และต่อมา ได้ฟ้องเป็นจำเลยทั้งแปดในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๖๖๕๙/๒๕๓๖ ของศาลชั้นต้น ครั้นวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๗ เจ้าพนักงานสำนักงานเดียวกันจับกุมจำเลยได้ในคดีอื่นและอายัดตัวมาดำเนินคดีนี้ ? ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานสนับสนุนจำเลยทั้งแปดในคดีอาญาดังกล่าว มีวัตถุที่ออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และต้องนำ พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖ (๑) มาปรับบทโดยระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้นหรือไม่ เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดจากพยานหลักฐานของโจทก์เองว่า จำเลยเพียงแต่จัดหาสารเคมีเพื่อใช้ผลิตวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ให้แก่กลุ่มผู้ผลิต แต่จำเลยมิได้เข้าไปร่วมผลิตหรือกระทำการใดอันเป็นการสนับสนุนให้จำเลยทั้งแปดในคดีอาญาดังกล่าวมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ที่ผลิตขึ้น จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานสนับสนุนจำเลยทั้งแปดในคดีอาญาดังกล่าวมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต อีกทั้งจะนำ พ.ร.บ. มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖ (๑) มาปรับบทโดยระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับตัวการก็มิได้ เพราะคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้อ้างถึงพระราชบัญญัติฉบับนี้มาเป็นบทที่ขอให้ลงโทษจำเลย ย่อมถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยในคดีนี้ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคสี่
พิพากษายืน .