คดีนี้ โจทย์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้
จำเลยให้การต่อสู้ในความว่าจำเลยได้ค้างชำระดอกเบี้ยเงินซึ่งเคยกู้โจทก์ จึงคิดเอาดอกเบี้ยเป็นเงิน ๕๐๐ บาท และตกลงกันให้ถือว่าเป็นจำเลยกู้เงินโจทก์ ๕๐๐ บาท โจทก์จึงให้จำเลยลงลาย มือชื่อโดยพิมพ์ลายนิ้วมือไว้ในแบบพิมพ์สัญญากู้เงินซึ่งยังมิได้กรอกข้อความ มีนายหลำ แซ่ลิ้ม ลงชื่อเป็นพะยาน นอกนั้นไม่มีพะยานอื่นหรือผู้เขียนลงชื่อไว้เลยโจทก์สมคบกับพวกเขียนจำนวนเงินกู้ขึ้นภายหลังเพื่อฉ้อโกงจำเลย ต่อเติมพะยานและผู้เขียนขึ้นด้วยเป็นการลับหลัง จำเลยมิได้รู้เห็นและรับรอง สัญญากู้จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยเป็นหญิงมีสามี ได้ทำนิติกรรมไปโดยสามีมิได้รู้เห็นยินยอมด้วย
ระหว่างศาลชั้นต้นนัดชี้สองสถาน ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม อ้างว่าจำเลยเป็นภริยาผู้ร้องโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่และมีส่วนได้เสียตามกฎหมายและขอให้การต่อสู้มีใจความสำคัญว่า จำเลยไม่มีอำนาจทำนิติกรรม เพราะมิได้รับความยินยอมอนุญาตจากผู้ร้อง นิติกรรมไม่ผูกพันสินบริคณห์ และขอบอกล้างนิติกรรมที่โจทย์ฟ้อง ฯลฯ
ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตใหผู้ร้องเข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยเหตุสำคัญว่า ผู้ร้องยังไม่ถูกโต้แย้งสิทธิ อย่างไร ที่ร้องเข้ามาอาจเป็นเพียงการบอกล้างนิติกรรมส่วนหนึ่ง ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ในคดีที่โจทย์ฟ้องเรียกเงินกู้จากจำเลยตามสำเนาสัญญากู้ท้ายฟ้อง จำเลยให้การปฏิเสธความรับผิดชอบ จึงยังไม่แน่ว่าโจทก์จะชนะคดีหรือไม่ หากชนะและไปยึดทรัพย์สินส่วนตัวของจำเลย แม้ผู้ร้องเป็นสามีก็ไม่มีสิทธิจะโต้แย้งคัดค้านได้ จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสั่งอนุญาตในขณะนี้ให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๕๗(๑) เพราะอาจทำให้คดียุ่งยาก และล่าช้าโดยใช่เหตุ
พิพากษายืน