โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 157, 161, 162, 264, 265, 266, 268พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1465/2526ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 40,497.12 บาท แก่เจ้าของจำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจริง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 157, 161, 162, 264, 265,266, 268, 341 เรียงกระทงลงโทษ ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปลอมและใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมฉ้อโกง ให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 266 ให้จำคุกกระทงละ 3 ปีรวม 170 กระทง เป็นจำคุก 510 ปีฐานฉ้อโกงอีก 1 กระทง ให้จำคุก1 ปี คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 340 ปี 8 เดือน แต่เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(2)บัญญัติว่าเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด 20 ปี จึงให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 20 ปี ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 40,447 บาท 12 สตางค์ แก่เจ้าของ ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1465/2526 หมายเลขแดงที่ 1762/2527 นั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง จึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ให้ยกคำขอส่วนนี้ โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ได้ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1465/2526 ของศาลชั้นต้น เมื่อปรากฏตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1465/2526 หมายเลขแดงที่ 1762/2527 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ขอให้นับโทษคดีนี้ต่อศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์เป็นว่าให้ลงโทษจำคุกจำเลยและศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในเวลาเดียวกันกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีนี้คนละบัลลังก์กัน ทำให้โจทก์ไม่อาจยื่นคำแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบได้ทันจำเลยมิได้แก้อุทธรณ์ของโจทก์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงฟังได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อแล้วต้องนับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากคดีดังกล่าวพิพากษาแก้เป็นว่าให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1465/2526หมายเลขแดงที่ 1762/2527 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คงมีปัญหาในชั้นฎีกาว่าจะนับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1762/2527 ของศาลชั้นต้นได้หรือไม่ เห็นว่า คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยคดีนี้ต่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4527/2530 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดเพชรบุรี โจทก์ จ่าสิบเอกเจริญชัย พราหมณ์น้อย จำเลย โดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161, 266ให้ลงโทษบทหนักตามมาตรา 266 การกระทำความผิดของจำเลยเป็นความผิดหลายกระทงรวม 71 กระทง ให้เรียงกระทงลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 20 ปีตามมาตรา 91(2) คดีดังกล่าวและคดีนี้เป็นเรื่องทุจริตเงินบำนาญพิเศษจากส่วนราชการเดียวกัน เพียงแต่อ้างชื่อผู้มีสิทธิรับบำนาญพิเศษต่างรายกัน หน่วยราชการซึ่งเป็นผู้เสียหายก็รายเดียวกันโจทก์อาจฟ้องจำเลยสำหรับการกระทำผิดคดีนี้และคดีที่ขอให้นับโทษต่อเป็นคดีเดียวกันได้ เพราะโจทก์จำเลยเป็นคนเดียวกันและพยานหลักฐานน่าจะเป็นชุดเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าโจทก์แยกฟ้องจำเลยแต่ละกระทงความผิดเป็นรายสำนวนไปและศาลมีคำสั่งให้พิจารณาคดีทุกสำนวนรวมกันศาลก็จะลงโทษจำเลยได้ไม่เกินกำหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา91 เมื่อโจทก์แยกฟ้องคดีนี้กับคดีที่ขอให้นับโทษต่อโดยศาลมิได้สั่งรวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน แล้วศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมโดยจำคุกจำเลยเต็มตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 91ทั้งสองสำนวนแล้ว ศาลก็นับโทษจำเลยต่อกันไม่ได้ เพราะจะทำให้จำเลยต้องรับโทษเกินกำหนดที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 บัญญัติไว้ และเมื่อปรากฏว่าคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว โดยศาลพิพากษาให้จำคุกจำเลย 20 ปี เต็มตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 91 จำเลยก็จะได้รับโทษจำคุกในคดีนั้นรวมกับโทษในคดีนี้เกินกำหนดดังกล่าวไม่ได้ เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1465/2526 หมายเลขแดงที่ 1762/2527 ของศาลชั้นต้นมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วย"
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่นับโทษจำคุกจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และโทษจำคุกทั้งสองคดีที่จำเลยจะต้องได้รับไม่ให้เกิน20 ปี