กรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๓๓๕ และ ๓๔๑ ที่แก้ไขแล้วฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมรวม ๕๑ กระทง จำคุกกระทงละ ๒ เดือน รวมจำคุก ๘ ปี ๕ เดือน (น่าจะเป็น ๖ เดือน) ฐานปลอมเอกสารสิทธิ ใช้เอกสารสิทธิปลอมและฉ้อโกง ลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา ๙๐ รวม ๒๕ กระทง จำคุกกระทงละ ๖ เดือน รวมจำคุก ๑๒ ปี ๕ เดือน (น่าจะเป็น ๖ เดือน)ฐานลักทรัพย์รวม ๑๙ กระทง จำคุกกระทงละ ๑ ปี รวมจำคุก ๑๙ ปีฐานฉ้อโกงรวม ๒๐ กระทง จำคุกกระทงละ ๓ เดือน รวมจำคุก ๕ ปีรวมโทษจำคุกทุกกระทงมีกำหนด ๔๔ ปี ๑๐ เดือน (น่าจะเป็น ๑๒ เดือน)จำเลยรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘คงจำคุก ๒๒ ปี ๕ เดือน (น่าจะเป็น ๖ เดือน) เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑(๒) ที่แก้ไขแล้ว ห้ามมิให้ลงโทษจำคุกเกิน ๒๐ ปี จึงให้จำคุกจำเลยไว้ ๒๐ ปี นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๓๙๐/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้น
จำเลยยื่นคำร้องว่า คดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๓๙๐/๒๕๒๘ที่ศาลชั้นต้นให้นับโทษต่อเป็นความผิดซึ่งเกิดในคราวเดียวกันลักษณะและพฤติการณ์แห่งคดีเหมือนกัน เจ้าพนักงานจับกุมในคราวเดียวกัน ผู้เสียหายเป็นบุคคลคนเดียวกัน ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นับโทษจำเลยใหม่ โดยเมื่อนับโทษจำเลยติดต่อกันทั้ง ๒ คดีแล้วต้องไม่เกิน ๒๐ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑(๒)
ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้ถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาซึ่งอ่านแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๐ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ไม่ให้นับโทษจำคุกจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๓๙๐/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้นและให้นับโทษจำคุกจำเลยคดีนี้ตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงกาคม ๒๕๓๐เป็นต้นไป โดยหักวันที่จำเลยถูกคุมขังในคดีนี้มาแล้ว ๗๖ วันออกให้
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้กับคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้นับโทษต่อคือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๓๙๐/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้นเป็นความผิดซึ่งเกิดขึ้นในคราวเดียวกัน ลักษณะและพฤติการณ์แห่งคดีเหมือนกัน เจ้าพนักงานจับกุมในคราวเดียวกัน และผู้เสียหายเป็นบุคคลเดียวกัน กับทั้งความผิดทั้งสองสำนวนเกิดขึ้นและปรากฏต่อพนักงานสอบสวนก่อนวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยถูกจับกุมในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๓๙๐/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้น ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ควรให้นับโทษจำเลยในคดีนี้ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นวันที่จำเลยถูกขังในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๓๙๐/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่าความผิดของจำเลยทั้งสองสำนวนนี้เกี่ยวพันกัน และความผิดในคดีนี้ปรากฏต่อพนักงานสอบสวนก่อนโจทก์ฟ้องคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๓๙๐/๒๕๒๘ของศาลชั้นต้นแล้ว เห็นได้ว่าโจทก์อาจยื่นฟ้องจำเลยทุกกระทงความผิดสำนวนเดียวกันได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ศาลลงโทษจำคุกจำเลยได้ไม่เกินยี่สิบปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑(๒) ดังนั้น แม้ว่าโจทก์จะแยกฟ้องจำเลยเป็นสองสำนวนและขอให้นับโทษต่อกันก็ตาม แต่เมื่อรวมโทษจำคุกที่จำเลยจะได้รับแล้วก็ต้องไม่เกินยี่สิบปีตามนัยของบทกฎหมายดังกล่าว และเมื่อคดีนี้ศาลลงโทษจำเลยทุกกรรมโดยจำคุกจำเลยเต็มตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑(๒) แล้วศาลจะนับโทษจำเลยต่อจากคดีแรกคือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๓๙๐/๒๕๒๘ของศาลชั้นต้นอีกไม่ได้ แต่ปรากฏจากคำฟ้องว่าระหว่างสอบสวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัวในคดีนี้ โดยถูกคุมขังอยู่ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่๒๓๙๐/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้น เพราะฉะนั้นในการคำนวณระยะเวลาจำคุกในคดีนี้ก็ต้องหักจำนวนวันที่จำเลยถูกคุมขังในคดีอาญาหมายเลขแดงที่๒๓๙๐/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้น จากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษาในคดีนี้ทั้งนี้เพื่อมิให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกเกินกำหนดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑(๒) ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้หักวันที่จำเลยถูกคุมขังในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๓๙๐/๒๕๒๘ ของศาลชั้นต้น ก่อนที่จะถูกคุมขังในคดีนี้ให้ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.