คดีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าว ค่าชดเชย ค่ารับรองและค่าพาหนะ พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ มีปัญหาในชั้นบังคับคดีว่าจำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์ครบถ้วนและเป็นการถูกต้องหรือไม่ โดยศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า โจทก์คงมีสิทธิได้รับชำระหนี้อีก 281.34 บาท
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหาอาจจะถูกบังคับให้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 320 เมื่อความปรากฏแก่โจทก์ในวันที่ 8 กันยายน 2529 ว่า เช็คฉบับแรกที่สั่งจ่ายเงิน64,336.66 บาท พ้นวันถึงกำหนดใช้เงินไปแล้วคงมีแต่เช็คฉบับที่สองสั่งจ่ายเงินเพียง 16,500 บาท ซึ่งหาพอแก่หนี้เงินต้นทุกจำนวน 63,946.66 บาทไม่ ทั้งนี้ โดยยังมิได้คิดถึงดอกเบี้ยด้วย หากโจทก์เห็นว่าตนยังมิได้รับชำระหนี้สมดังสิทธิตามคำพิพากษา โจทก์ก็ชอบที่จะบอกปัดไม่ยอมรับเช็คฉบับที่สองเสียได้โดยให้จำเลยชำระหนี้ตามคำพิพากษาโดยสิ้นเชิงก่อน แต่กรณีหาเป็นเช่นนั้นไม่ โจทก์กลับละเสียซึ่งประโยชน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 320 แล้วรับชำระหนี้ 16,500 บาทตามเช็คฉบับที่สองแต่โดยดี การยอมรับชำระหนี้ 64,600 บาท ตามเช็คฉบับที่สามเมื่อวันที่21 พฤศจิกายน 2529 ก็ดุจกันกับเช็คฉบับที่สองหนี้ทั้งสองส่วนจำนวน 80,000 บาทจึงเป็นอันเปลื้องไป ทั้งเมื่อพิเคราะห์ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275 (2) แล้วมีความหมายว่า ลูกหนี้ตามคำพิพากษาอาจชำระหนี้แต่บางส่วนได้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิขอให้บังคับคดีเฉพาะแต่ส่วนที่เหลือเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากถ้อยคำใน มาตรา 275 (2)ที่ว่า 'ที่ยังมิได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น'ดังนั้น กรณีย่อมแปลได้ว่าส่วนที่บังคับไปแล้วหาอาจจะบังคับซ้ำอีกได้ไม่ ซึ่งโจทก์จะบังคับหนี้ตามคำพิพากษาเต็มจำนวนโดยมิให้หักส่วนที่ได้ปลดเปลื้องไปแล้วหาชอบด้วยความเป็นธรรมและหาชอบด้วยกฎหมายส่วนสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติตามที่กล่าวมาแล้วไม่
เมื่อจำเลยวางเงินตามเช็คฉบับแรก 64,376.66 บาท เท่าที่จำเลยคิดว่าพอแก่จำนวนที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องโดยไม่ยอมรับผิดการวางเงินเช่นว่านี้ย่อมไม่เป็นเหตุระงับการเสียดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 136เพราะฉะนั้น ดอกเบี้ยสำหรับเงินต้น 4 จำนวนตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางจึงต้องคิดจนถึงวันที่จำเลยวางเงินโดยยอมรับผิด ซึ่งเป็นวันที่ 29 สิงหาคม 2529 หลังจากศาลฎีกาพิพากษาคดีแล้ว.....ฯลฯ ดอกเบี้ยสำหรับเงินต้น 4 จำนวน รวมเป็นเงิน16,458.38 บาท จำเลยชำระหนี้เพียง 16,500 บาท ซึ่งไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้ทั้งหมด จึงต้องใช้ดอกเบี้ยก่อน แล้วจึงชำระหนี้เงินต้นอันเป็นประธานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 329 เมื่อจัดชำระหนี้ตามที่กล่าวข้างต้นแล้วจำเลยคงค้างชำระเงินต้นอันเป็นหนี้ประธานอีก 63,905.04 บาท จำเลยต้องเสียดอกเบี้ยสำหรับเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่ 30สิงหาคม 2529 จนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2529 อันเป็นวันที่จำเลยวางเช็คฉบับที่สามสั่งจ่ายเงิน 64,600 บาท ซึ่งคิดเป็นดอกเบี้ย932.23 บาท รวมเงินต้นที่ค้างชำระกับดอกเบี้ยที่เกิดใหม่เป็นเงิน 64,837.27 บาท เพราะฉะนั้นวันที่ 11 พฤศจิกายน 2529 จำเลยจึงค้างชำระเงินต้นอยู่เพียง 237.27 เมื่อคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2529 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2530 จึงเป็นดอกเบี้ย 6.07 บาท รวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจึงเป็นเงิน243.34 บาท อันเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับที่ศาลแรงงานกลางคำนวณได้
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอเลื่อนการสอบถามตามคำร้องลงวันที่30 มีนาคม 2530 เพื่อติดต่อและปรึกษาทนายโจทก์ก่อน แต่ศาลแรงงานกลางกลับด่วนสอบถามทันที ไม่ให้โอกาสโจทก์ปรึกษาทนายโจทก์ก่อน ขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลแรงงานกลางนั้นเสียเห็นว่า ชั้นนี้ศาลฎีกา ได้หยิบยกข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีตามที่ปรากฏในท้องสำนวนขึ้นวินิจฉัยโดยละเอียดทุกถ้อยกระทงความแล้ว แม้โจทก์มีโอกาสปรึกษาหารือทนายโจทก์ก่อน ทนายโจทก์ก็หาอาจจะหยิบยกข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีนอกเหนือไปจากท้องสำนวนให้เป็นอย่างอื่นใดไม่จะทำได้อย่างที่สุดก็เพียงแต่ 'คำแถลงการณ์' ใด ๆ หากมี ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยตามที่กล่าวมาแล้วให้เป็นอย่างอื่นได้ ที่โจทก์ขอปรึกษาหารือทนายโจทก์ไม่จำเป็นไม่เป็นประโยชน์แก่คดี
พิพากษายืน.