โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2538 เวลากลางวัน จำเลยออกเช็คธนาคารสหธนาคาร จำกัด สาขาบางนา ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2538 สั่งจ่ายบริษัท ส.รุ่งเรืองค้าเหล็ก จำกัด ผู้เสียหายจำนวนเงิน 31,500 บาท เพื่อเป็นการชำระหนี้สินค้าประเภทเหล็ก ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2538ผู้เสียหายนำเช็คฉบับดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน ให้เหตุผลว่า ยังรอเรียกเก็บเงินอยู่โปรดนำมายื่นใหม่ ทั้งนี้ จำเลยได้ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีในขณะที่ออกเช็คนั้น ออกเช็คโดยในขณะออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ต่อมาวันที่9 ธันวาคม 2538 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ ระหว่างสอบสวนจำเลยไม่ถูกควบคุมตัวในคดีนี้ แต่ถูกควบคุมตัวในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 170/2539 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 171/2539 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 170/2539 และ 171/2539 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ให้จำคุก 2 เดือน จำเลยรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน จำเลยต้องขังมาพอแก่โทษแล้วจึงให้ปล่อยตัวไป คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นหักวันที่จำเลยถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกโดยระบุไว้ในคำพิพากษาว่า "จำเลยต้องขังมาพอแก่โทษแล้วจึงให้ปล่อยตัวไป" นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาโต้แย้งว่าการที่ศาลชั้นต้นนำวันที่จำเลยถูกคุมขังอยู่ในคดีอื่นมาหักจากระยะเวลาจำคุกในคดีนี้ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่ง เห็นว่า เกี่ยวกับการคุมขังประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในมาตรา 1(12) ว่า "คุมขัง" หมายความว่า คุมตัวควบคุม ขัง กักขังหรือจำคุก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(22)บัญญัติว่า "ขัง" หมายความถึงการกักขังจำเลยหรือผู้ต้องหาโดยศาล และมาตรา 71วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้มาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวนไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ก็ได้ วรรคสามบัญญัติว่า ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังโดยพลการหรือโดยโจทก์ยื่นคำร้องก็ได้ จะเห็นได้ว่า ไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติห้ามไว้ว่าเมื่อจำเลยถูกขังในคดีหนึ่งแล้วจะถูกขังในคดีอื่นอีกไม่ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยระหว่างพิจารณา ตามหมายขังเลขที่ 16/2539 ลงวันที่ 16 มกราคม 2539 ในคดีนี้ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นและขณะที่จำเลยถูกขังอยู่ในเรือนจำในคดีอื่นจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายมีผลให้จำเลยถูกขังในคดีนี้ตามหมายขังดังกล่าวของศาลชั้นต้นนับแต่วันที่ 16 มกราคม 2539 เป็นต้นมา ทำนองเดียวกับการที่จำเลยถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 คดี พร้อมกัน หากศาลมิได้กล่าวในคำพิพากษาว่าให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีหนึ่งต่อจากอีกคดีหนึ่ง ก็ต้องนับโทษจำคุกของจำเลยในทั้งสองคดีไปพร้อมกันหมายความว่าจำเลยสามารถรับโทษจำคุกทั้งสองคดีไปพร้อม ๆ กัน และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 88 บัญญัติว่า นับแต่เวลายื่นฟ้องจำเลยที่ต้องขังตามหมายศาล ๆ จะขังจำเลยต่อไปหรือปล่อยชั่วคราวก็ได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับมาตรา 71 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า หมายขังคงใช้ได้อยู่จนกว่าศาลจะได้เพิกถอนโดยออกหมายปล่อยหรืออกหมายจำคุกแทน เมื่อข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่า นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยไว้ในระหว่างพิจารณาจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นคงขังจำเลยไว้ตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่าระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลย เป็นกรณีที่จำเลยถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษาสามารถหักจำนวนวันที่จำเลยถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา ดังประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติไว้ในมาตรา 22 วรรคหนึ่งได้ การที่ศาลชั้นต้นหักวันที่จำเลยถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจำคุกตามคำพิพากษา และเห็นว่าจำเลยต้องขังมาพอแก่โทษแล้ว จึงให้ปล่อยตัวไปนั้นชอบแล้ว"
พิพากษายืน