ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
หน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายของนายจ้าง & อายุความเรียกร้องหนี้ภาษี กรณีล้มละลาย
ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 29,30 ได้กำหนดกฎเกณฑ์และวิธีการในการอุทธรณ์การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน และการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลแล้ว กล่าวคือให้โอกาสแก่ผู้เสียภาษีปฏิบัติได้เป็นขั้นตอนเมื่อผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับการประเมินก็ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์แล้วผู้เสียภาษียังไม่เห็นด้วยก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องร้องต่อศาลได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ จะนำคดีมาฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีต่อศาลโดยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ตามวิธีการดังกล่าวเสียก่อนหาได้ไม่
จำเลยมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ลูกจ้างของตนตามประมวลรัษฎากรมาตรา 50 และต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่จะต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 54 จึงมีฐานะเช่นเดียวกับผู้มีเงินได้ มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงาน จำเลยจึงต้องผูกพันเป็นลูกหนี้ตามที่เจ้าพนักงานทำการประเมินโดยแห่งบทบัญญัติของประมวลรัษฎากรไม่อาจยกขึ้นต่อสู้ได้ว่าเจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินไม่ชอบ จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายเพราะลูกจ้างมีเงินรายได้พึงประเมินแต่ละปีไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษี
ค่าภาษีอากรประจำปี พ.ศ. 2508 เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ภายในเดือนมีนาคม 2509 ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 56 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2516 มาตรา 7 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะนั้น เจ้าหนี้ยื่นฟ้องต่อศาลให้ลูกหนี้รับผิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2518 จึงเป็นการใช้สิทธิภายในกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 และอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 ต่อมาเมื่อลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลจึงจำหน่ายคดีของเจ้าหนี้ อายุความจึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ศาลสั่งจำหน่ายคดี เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2519 หนี้ของเจ้าหนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ