ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนประกันภัยเมื่อมีการจำนองและโอนทรัพย์สิน สิทธิจะตกเป็นของผู้ใด
ที่ดินและตึกแถวเป็นของ ศ. ซึ่งได้จำนองแก่ธนาคารและได้เอาประกันภัยไว้กับจำเลย โดยระบุให้ธนาคารเป็นผู้รับประโยชน์ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 231 สิทธิจำนองย่อมครอบไปถึงสิทธิที่จะเรียกร้องเอาแก่ผู้รับประกันภัย อันมีความหมายว่าค่าสินไหมทดแทนที่ธนาคารผู้รับจำนองจะพึงเรียกได้จากจำเลยผู้รับประกันภัยก็ตกอยู่ในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกับทรัพย์ที่จำนองดังนั้นหากเกิดเพลิงไหม้ตึกแถวในระหว่างการจำนอง ธนาคารย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยแทนตึกแถวจากจำเลยได้โดยตรง จึงเป็นกรณีที่ธนาคารในฐานะเจ้าหนี้จำนองรับช่วงทรัพย์อันได้แก่สิทธิเรียกร้องของ ศ. ลูกหนี้ที่เอาประกันภัยที่มีอยู่กับจำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยตามมาตรา 226 วรรค 2 เมื่อตึกแถวมิได้ถูกเพลิงไหม้ในระหว่างการจำนองและ ศ. ได้จดทะเบียนไถ่จำนองโดยโจทก์เป็นผู้ชำระหนี้แก่ธนาคารแทน ศ.แล้วศ. ได้จดทะเบียนโอนขายให้โจทก์โดยปลอดการจำนอง จึงทำให้สิทธิจำนองระงับไปและธนาคารผู้รับจำนองหมดสิทธิที่จะได้รับช่วงทรัพย์อันได้แก่สิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ ศ. มีอยู่ต่อจำเลยอีกต่อไปตามมาตรา 231 สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในกรมธรรม์ประกันภัยจึงกลับมาเป็นของ ศ. ผู้เอาประกันภัยตามเดิม ต่อมาเกิดเพลิงไหม้ตึกแถวโจทก์ก็ไม่อาจอ้างได้ว่าโจทก์ได้รับช่วงสิทธิด้วยอำนาจกฎหมายจากธนาคารผู้รับจำนองเพราะโจทก์เป็นบุคคลผู้ได้ไปซึ่งอสังหาริมทรัพย์และเอาเงินราคาค่าซื้อให้แก่ผู้รับจำนองทรัพย์สินเสร็จไปตามมาตรา 229(2) การที่ ศ. โอนตึกแถวให้โจทก์ สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในสัญญาประกันภัยของ ศ. จะโอนมาเป็นของโจทก์ด้วยหรือไม่นั้นต้องบังคับตามมาตรา 875 วรรคสอง เมื่อ ศ. ผู้เอาประกันภัยไม่ได้บอกกล่าวการโอนให้จำเลยทราบเพราะไม่ทราบเงื่อนไขจนกระทั่งเกิดเพลิงไหม้ตึกแถว สิทธิในสัญญาประกันภัยจึงไม่โอนตามไปด้วยและตามกรมธรรม์ประกันภัยระบุไว้ว่าสัญญาตามกรมธรรม์ประกันภัยย่อมระงับสิ้นไปเมื่อทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ได้เปลี่ยนมือจากผู้เอาประกันภัยโดยวิธีอื่นนอกจากทางพินัยกรรมหรือโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย