โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้ทำการจับกุมนายคำภา พันธ์พงษ์และนายเฉลิมพล นาเมือง จำเลยได้ทำสัญญาประกันให้ไว้แก่โจทก์ขอประกันตัวนายคำภา พันธ์พงษ์ และนายเฉลิมพล นาเมือง ผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นจำนวนเงินคนละ 40,000 บาท ต่อมาจำเลยไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาทั้งสองให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัดอันเป็นการผิดสัญญาขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 80,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญาประกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน30,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 บัญญัติว่า "ในคดีที่ราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้น หรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ฯลฯ" สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินค่าปรับตามสัญญาประกันตัวนายคำภา พันธ์พงษ์ ผู้ต้องหาจำนวน 40,000 บาทตามสัญญาประกันเอกสารหมาย ป.จ. 1 และโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินค่าปรับตามสัญญาประกันตัวนายเฉลิมพล นาเมือง ผู้ต้องหาจำนวน40,000 บาท ตามสัญญาประกันเอกสารหมาย ป.จ.2 โดยโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินดังกล่าวรวมมาในฟ้องฉบับเดียวกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าปรับตามสัญญาประกันเอกสารหมาย ป.จ.1จำนวน 40,000 บาท และให้จำเลยชำระค่าปรับตามสัญญาประกันเอกสารหมาย ป.จ.2 จำนวน 10,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าปรับตามสัญญาประกันเอกสารหมาย ป.จ.1 จำนวน 20,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวเป็นการแก้ไขเล็กน้อย โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยชำระค่าปรับเต็มจำนวนตามที่ระบุไว้ในสัญญาประกันเอกสารหมาย ป.จ.1 และจำเลยฎีกาขอให้ลดค่าปรับแก่จำเลยซึ่งเป็นฎีกาโต้เถียงในข้อเท็จจริงและทุนทรัพย์ในคดีนี้ก็ต้องถือตามจำนวนเงินในสัญญาประกันเอกสารหมายป.จ.1 และ ป.จ.2 แต่ละฉบับ คือฉบับละ 40,000 บาท เพราะค่าปรับตามสัญญาประกันเอกสารหมายป.จ.1 และ ป.จ.2 เป็นคนละรายแบ่งแยกรับผิดเป็นส่วนสัดกัน เมื่อทุนทรัพย์แต่ละรายไม่เกินห้าหมื่นบาทเช่นนี้ ฎีกาของโจทก์และจำเลยจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้"
พิพากษายกฎีกาโจทก์จำเลย.