โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 58, 66, 91, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 57, 58, 66 วรรคสองและวรรคสาม, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน ฐานเสพมอร์ฟีน จำคุก 6 เดือน ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 8 ปี และปรับ 600,000 บาท ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 3 เดือน ฐานเสพมอร์ฟีน จำคุก 3 เดือน ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี และปรับ 300,000 บาท ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 ให้กึ่งหนึ่ง จำคุก 25 ปี และปรับ 500,000 บาท รวมจำคุก 29 ปี 6 เดือน และปรับ 800,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 57, 58, 66 วรรคสองและวรรคสาม, 91 ประกอบมาตรา 100/2 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 3 เดือน ฐานเสพมอร์ฟีน จำคุก 3 เดือน ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี และปรับ 300,000 บาท ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 36 ปี และปรับ 720,000 บาท ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 1 เดือน 15 วัน ฐานเสพมอร์ฟีน จำคุก 1 เดือน 15 วัน ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 2 ปี และปรับ 150,000 บาท ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 18 ปี และปรับ 360,000 บาท รวมจำคุก 20 ปี 3 เดือน และปรับ 510,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า สมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามทางนำสืบของโจทก์จากคำเบิกความของนายชาติชายปลัดอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และเป็นเจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้ร่วมจับกุมจำเลย ประกอบบันทึกการตรวจค้น/จับกุม และแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ว่า หลังจากจับกุมจำเลยพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนของกลาง 400 เม็ด ที่ล่อซื้อจากจำเลยบริเวณข้างบ้านที่เกิดเหตุ มีการตรวจค้นบริเวณบ้านที่เกิดเหตุแต่ไม่พบสิ่งกฎหมาย ในระหว่างนั้น จำเลยให้ข้อมูลว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนฝังดินไว้พร้อมทั้งพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง 600 เม็ด บริเวณหลังบ้านที่เกิดเหตุ และขุดพบเมทแอมเฟตามีนของกลางอีก 1,000 เม็ด บริเวณไร่อ้อยห่างจากหลังบ้านที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร ทั้งเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองให้ข้อมูลว่า หากไม่ได้ข้อมูลจากจำเลย ก็จะไม่สามารถตรวจค้นเจอยาเสพติดของกลาง 1,600 เม็ด การให้ข้อมูลของจำเลยเป็นเหตุให้มีการขยายผลจนสามารถตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนของกลางอีกเป็นจำนวนค่อนข้างมาก หากแพร่ระบาดออกไปย่อมเป็นอันตรายต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า หากจำเลยไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยซุกซ่อนไว้และพาเจ้าพนักงานไปขุดพบเมทแอมเฟตามีนอีก 1,600 เม็ด เจ้าพนักงานคงไม่สามารถตรวจพบเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวได้ ถือว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อพนักงานฝ่ายปกครอง โดยหาจำต้องเป็นข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษหรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษรายอื่น และมิใช่เป็นกรณีที่จำเลยให้ความร่วมมือต่อเจ้าพนักงานเพื่อเป็นเหตุบรรเทาโทษที่เกิดจากการรู้สึกความผิด หรือลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานอันควรได้รับการลดโทษตามความแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาแต่ประการใด ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ออกใช้บังคับ โดยในมาตรา 4 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ และให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวแทน โดยบทบัญญัติเกี่ยวกับการให้ข้อมูลสำคัญที่จะเป็นเหตุให้ลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิดนั้น ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดมีบัญญัติไว้ใน มาตรา 153 โดยเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ที่แตกต่างจากเดิม คือ ต้องให้พนักงานอัยการระบุในคำฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาล หรือหากพนักงานอัยการไม่ระบุในคำฟ้องหรือยื่นคำร้อง ผู้กระทำความผิดอาจยื่นคำร้องต่อศาลก็ได้ จึงเป็นกรณีกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดบัญญัติหลักเกณฑ์ดังกล่าวที่ไม่เป็นคุณ จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง และความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน และฐานเสพมอร์ฟีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 58 และมีบทกำหนดโทษไว้ในมาตรา 91 ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปีหรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดได้บัญญัติความผิดเกี่ยวกับการเสพเมทแอมเฟตามีนและการเสพมอร์ฟีนไว้ในมาตรา 104 และมีบทกำหนดโทษในมาตรา 162 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การเสพเมทแอมเฟตามีนและการเสพมอร์ฟีน คงเป็นความผิดอยู่ แต่อัตราโทษตามกฎหมายใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องนำประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 104, 162 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิดและเป็นคุณมากกว่ามาบังคับแก่จำเลย ส่วนความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน นั้น ตามมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด ได้ให้คำนิยามคำว่า "จำหน่าย" ให้หมายความรวมถึงมีไว้เพื่อจำหน่ายด้วย ดังนั้น การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนถือเป็นความผิดอย่างเดียวกันอันเป็นกรรมเดียว ให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพียงกรรมเดียว ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่ใช้ในขณะกระทำความผิดที่แยกเป็นคนละฐานความผิด ประกอบกับความผิดของจำเลยต้องด้วยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2), 66 วรรคสองและวรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท และระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งล้านถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิตตามลำดับ โดยการลงโทษหนักเบาถือเอาปริมาณของยาเสพติดเป็นสำคัญ แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดที่เป็นบทบัญญัติของกฎหมายใหม่ มาตรา 90 ที่มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 145 วรรคสองและวรรคสาม บัญญัติให้ลงโทษผู้กระทำความผิดหนักขึ้นโดยถือเอาพฤติการณ์และบทบาทหน้าที่ในการกระทำความผิดเป็นสำคัญ ไม่ได้ถือเอาเพียงปริมาณยาเสพติดดังเช่นกฎหมายเดิมอีกต่อไป แม้ปริมาณยาเสพติดที่มากขึ้นอาจบ่งชี้ถึงพฤติการณ์ในการกระทำความผิดและบทบาทหน้าที่ได้ในระดับหนึ่งก็ตาม ต้องถือว่าประมวลกฎหมายยาเสพติดที่เป็นกฎหมายใหม่มิได้ได้ยกเลิกความผิดตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ มาตรา 66 วรรคสองและวรรคสามไปเสียทีเดียว แต่เมื่อกฎหมายใหม่ไม่ได้บัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำความผิดหนักขึ้นเพียงเพราะปริมาณยาเสพติดให้โทษดังเช่นกฎหมายเดิม แต่ต้องมีพฤติการณ์และบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายใหม่กำหนดไว้ด้วย การกระทำของจำเลยย่อมอาจเป็นความผิดตามมาตรา 90 ประกอบมาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสามได้ โดยขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ ดังนั้น ศาลย่อมมีอำนาจพิจารณาปรับบทความผิดของจำเลยไปตามพฤติการณ์หรือบทบาทหน้าที่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา 145 วรรคสองหรือวรรคสาม สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามทางนำสืบโจทก์ว่า เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2562 พนักงานฝ่ายปกครองได้ร่วมกันจับกุมตัวนางสาวศิริเพ็ญในเขตพื้นที่ตำบลห้วยขมิ้น จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วยของกลางเป็นเมทแอมเฟตามีน 198 เม็ด นางสาวศิริเพ็ญต้องการได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 จึงให้ข้อมูลว่าตนซื้อยาเสพติดจากผู้ค้าในพื้นที่อำเภอหนองหญ้าไซและอำเภอดอนเจดีย์ เจ้าพนักงานจึงมีการขยายผลทราบว่าซื้อยาเสพติดจากนายบุญชวนสามีจำเลย จึงมีการวางแผนโทรศัพท์ติดต่อล่อซื้อ โดยจำเลยเป็นผู้รับโทรศัพท์และนัดหมายส่งมอบยาเสพติด 2 ถุง ในราคาถุงละ 5,200 บาท ที่หน้าบ้านของนายบุญชวน ต่อมาเมื่อถึงเวลานัดหมาย เจ้าพนักงานเข้าประจำจุด เห็นจำเลยนั่งรออยู่หน้าบ้าน เมื่อสายลับขี่รถจักรยานยนต์มาถึงจุดนัดหมาย สายลับส่งมอบธนบัตรที่ใช้ในการล่อซื้อและจำเลยส่งมอบยาเสพติดให้แก่สายลับ จึงแสดงตัวเข้าจับกุม ภายหลังจับจำเลยได้ จำเลยให้การรับว่า ยาเสพติดทั้งหมดนายบุญชวนสามีของจำเลยเป็นผู้สั่งซื้อมาจากผู้ค้าเพื่อให้จำเลยจำหน่ายให้แก่ผู้ค้าและผู้เสพในพื้นที่อำเภอดอนเจดีย์ ส่วนนายบุญชวนหลบหนีไป จากนั้นจำเลยยอมรับว่ายังมียาเสพติดซุกซ่อนฝังดินและซุกซ่อนในป่าอ้อย และนำเจ้าพนักงานเข้าตรวจค้น และพบยาเสพติดของกลางเพิ่มเติมอีก 1,600 เม็ด นอกเหนือจากที่จำหน่ายแก่สายลับ 400 เม็ด จากพฤติการณ์ในการครอบครองและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของจำเลย เป็นการทำให้ยาเสพติดแพร่กระจายในกลุ่มผู้ค้าและผู้เสพ และก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน จึงถือเป็นพฤติการณ์ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 145 วรรคสอง (2) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนถึงสองล้านบาท อันเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ากฎหมายเดิม ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 104, 145 วรรคสอง (2), 162 ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 3 เดือน ฐานเสพมอร์ฟีน จำคุก 3 เดือน ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเป็นความผิดกรรมเดียว จำคุก 10 ปี และปรับ 1,000,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 1 เดือน 15 วัน ฐานเสพมอร์ฟีน จำคุก 1 เดือน 15 วัน ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 5 ปี และปรับ 500,000 บาท รวมจำคุก 5 ปี 2 เดือน 30 วัน และปรับ 500,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์