โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสัญชาติไทยโดยเป็นบุตรนายตงบุ่งนางผู่ตี้ หรือนางยวดกุ๋ย เกิดในราชอาณาจักรไทย แต่มารดาโจทก์ได้พาโจทก์ไปสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2491 โจทก์จำต้องอยู่ประเทศจีนตลอดมาเนื่องจากถูกห้ามออกนอกประเทศ จนกระทั่งวันที่ 13 สิงหาคม 2519 โจทก์จึงได้เดินทางเข้าประเทศไทย โดยใช้หนังสือเดินทางในชื่อว่า "ลิน เจาฟู"เกิดในประเทศจีน เหตุที่ระบุที่เกิดผิดจากความจริงก็เพื่อสะดวกในการทำหนังสือเดินทาง เมื่อโจทก์เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้วได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในบังคับบัญชีของกรมตำรวจจำเลยที่ 1 เพื่อขออยู่หาหลักฐานการเกิดในประเทศไทย ต่อมาโจทก์หาหลักฐานการเกิดในประเทศไทยได้ จึงได้เสนอใบรับรองการเกิดในประเทศไทยต่อกองตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออยู่ในประเทศไทยในฐานะผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด เจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองได้มีหนังสือที่ 82/2520แจ้งให้โจทก์ทราบว่ากรมตำรวจพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์มีสิทธิอยู่ในประเทศไทยตามคำร้องขอ และให้โจทก์รีบเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักรไทยโดยด่วนภายในวันที่ 13 มกราคม 2520 โจทก์เห็นว่าโจทก์เป็นคนไทยตามกฎหมายย่อมมีสิทธิอยู่ในประเทศไทย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองตามหนังสือที่ 82/2520 และพิพากษาว่าโจทก์มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การร่วมกันว่า โจทก์เป็นคนต่างด้าว เชื้อชาติจีนสัญชาติจีน เกิดที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ถือหนังสือเดินทางสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้โดยสารเครื่องบินจากฮ่องกงเข้ามาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 13สิงหาคม 2519 ในประเภทคนอยู่ชั่วคราว ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองได้อนุญาตโจทก์จะไม่ยอมออกไปจากประเทศไทยจึงได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ โจทก์ไม่เคยยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติต่อเจ้าพนักงานหรือต่อศาล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาล ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เกิดในประเทศไทย จึงได้สัญชาติไทยตามกฎหมาย จำเลยออกคำสั่งให้โจทก์เดินทางออกไปนอกประเทศไทย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองตามหนังสือที่ 82/2520 ลงเดือนมกราคม 2520 นั้นเสีย และพิพากษาว่าโจทก์มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีสัญชาติไทยควรพิพากษายกฟ้อง
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องกรมตำรวจเป็นจำเลยที่ 1 และกองตรวจคนเข้าเมืองเป็นจำเลยที่ 2 สำหรับกรมตำรวจซึ่งเป็นส่วนราชการในระดับกรมประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ข้อ 5 วรรคท้าย กำหนดให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่การแบ่งส่วนราชการในกรมออกเป็นกองตามข้อ 31 แห่งประกาศของคณะปฏิบัติฉบับดังกล่าวมิได้กำหนดให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จึงไม่อาจที่จะถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลได้ แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ยกปัญหาเรื่องนี้ขึ้นต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยตามนัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 ไม่ได้
ส่วนฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้น ได้พิเคราะห์หนังสือของเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองที่ 82/2520 ลงเดือนมกราคม 2520 ตามเอกสารหมาย จ.3 ที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนแล้ว ปรากฏว่าเป็นหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคำร้องของโจทก์ฉบับ ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2519 ซึ่งโจทก์ขอเป็นคนเข้าเมืองเพื่อมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยไว้ (ตามเอกสารหมาย ล.3) โดยเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองแจ้งว่า ได้นำเรื่องเสนอกรมตำรวจพิจารณาแล้ว มีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์เป็นคนเข้าเมืองตามคำร้องขอ และได้แจ้งไปด้วยว่าให้โจทก์รีบเดินทางกลับออกไปนอกราชอาณาจักรโดยด่วน ศาลฎีกาเห็นว่า หนังสือของเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองฉบับดังกล่าวเป็นการแจ้งผลการพิจารณาของกรมตำรวจให้โจทก์ทราบว่า กรมตำรวจไม่อนุญาตให้โจทก์เป็นคนเข้าเมืองตามที่โจทก์ร้องขอไป กับได้แจ้งให้โจทก์เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรตามกำหนด ซึ่งเท่ากับเป็นการเตือนให้โจทก์ทราบในฐานะที่โจทก์เป็นผู้ถือหนังสือเดินทางของประเทศอื่นและได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยชั่วคราว ยังถือไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์เพราะโจทก์ยังมิได้อ้างต่อเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมืองเลยว่าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยและมีสิทธิจะอยู่ในราชอาณาจักรได้ในฐานะที่เป็นคนไทย โจทก์เพียงแต่ขอเป็นคนเข้าเมืองเพื่อมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยโดยเหตุผลว่าโจทก์เป็นผู้ช่วยผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดสระบุรีพรพัฒนาและเป็นผู้ควบคุมฝ่ายซ่อมเครื่องยนต์รถแทรกเตอร์เท่านั้น
อนึ่ง ตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฉบับปี พ.ศ. 2493ซึ่ง เป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่โจทก์เดินทางเข้ามาในประเทศไทยก็ได้เปิดโอกาสให้โจทก์ยื่นขอพิสูจน์สัญชาติต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือร้องขอต่อศาลแต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิยื่นขอพิสูจน์สัญชาติต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงยังถือไม่ได้ว่าพนักงานเจ้าหน้าที่หรือจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของโจทก์และการที่โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ ก็จะถือว่ามีลักษณะเป็นการร้องขอพิสูจน์สัญชาติต่อศาลไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยเรื่องสัญชาติของโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์