กรณีสืบเนื่องมาจากศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๓๗๖๐, ๑๓๗๖๑, ๑๓๗๖๒ แขวงหัวหมากใต้ และเลขที่๑๒๑๖๔ แขวงลาดพร้าว (ลาดพร้าวฝั่งเหนือ) เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ไม่ชำระ โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินทั้งสี่แปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาด
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ ๓ ที่ดินทั้งสี่แปลงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๓ นำที่ดินดังกล่าวไปจำนองเพื่อประกันหนี้ไว้กับโจทก์ในเรื่องส่วนตัวผู้ร้องไม่ทราบและไม่ยินยอมด้วย นิติกรรมจำนอง เป็นโมฆียะ ไม่ผูกพันผู้ร้องจึงขอบอกล้างนิติกรรม ที่ดินทั้งสี่แปลงเป็นส่วนของผู้ร้องครึ่งหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อศาลขายทอดตลาดที่ดินที่โจทก์นำยึดได้เงินจำนวนเท่าใด ต้องแบ่งให้ผู้ร้องกึ่งหนึ่ง จึงขอให้กันส่วนของผู้ร้อง
โจทก์คัดค้านว่า เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ จำเลยที่ ๓ นำที่ดินทั้งสี่แปลงอันเป็นสินบริคณห์มาจำนองไว้กับโจทก์ เพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ ๓ กับหนี้บริษัทซึ่งจำเลยที่ ๓ และผู้ร้องต่างเป็นกรรมการอยู่ในบริษัทนั้นด้วย เป็นการจำนองเพื่อประโยชน์ในทางทำมาหาเลี้ยงชีพระหว่างจำเลยที่ ๓ และผู้ร้องร่วมกันโดยผู้ร้องทราบและยินยอมแล้ว ขณะจดทะเบียนจำนอง จำเลยที่ ๓ มีอำนาจตามกฎหมายในการจัดการสินบริคณห์ได้โดยลำพัง และจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ซึ่งเป็นหนี้ร่วม นิติกรรมจึงผูกพันผู้ร้อง ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอกันส่วนขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว วินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๓ จำนองที่ดินทั้งสี่แปลงซึ่งเป็นสินบริคณห์ขณะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๕ เดิมมาตรา ๑๔๖๘ ใช้บังคับอยู่ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวให้สามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ได้แต่ผู้เดียว และกรณีนี้ไม่ปรากฏว่ามีสัญญาก่อนสมรสไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น การจำนองที่ดินดังกล่าว แม้ผู้ร้องไม่ทราบและไม่รู้เห็นยินยอมด้วยการจำนองก็ย่อมสมบูรณ์ตามกฎหมาย มีผลผูกพันทรัพย์ที่เป็นส่วนของผู้ร้องด้วยผู้ร้องไม่มีสิทธิขอกันส่วน ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำร้องของผู้ร้องมีประเด็นเฉพาะเรื่องจำเลยที่ ๓ จำนองที่ดินพิพาทประกันหนี้จำเลยที่ ๒ เท่านั้น ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการยึดเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ที่จำเลยที่ ๓ ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงเป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในข้อที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ที่จำเลยที่ ๓ จำนองค้ำประกันหนี้จำเลยที่ ๑ ไว้เป็นเรื่องที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้นั้น เห็นว่าตามคำร้องและอุทธรณ์ของผู้ร้องได้กล่าวถึงการค้ำประกัน เพื่อแสดงถึงที่มาของการจำนองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ ๓ ซึ่งผู้ร้องไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย จึงมาร้องขอกันส่วน ถือได้ว่ามีการว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นแล้ว แต่โดยที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยในประเด็นที่ว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะมาร้องขอกันส่วนตามคำร้องหรือไม่ และกรณีเป็นหนี้ร่วมหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปทีเดียว ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ จำนองที่ดินสินสมรสทั้งสี่แปลงซึ่งเป็นสินบริคณห์ระหว่างผู้ร้องและจำเลยที่ ๓ ไว้กับโจทก์ ขณะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๖๘ เดิมมีผลใช้บังคับอยู่ และไม่มีสัญญาก่อนสมรสกำหนดให้ผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ ๓เป็นผู้จัดการสินบริคณห์หรือให้จัดการร่วมกัน ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจสามีเป็นผู้จัดการสินบริคณห์ได้แต่ผู้เดียว เว้นแต่ในสัญญาก่อนสมรสจะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๓ นำที่ดินสินสมรสทั้งสี่แปลงไปจำนองกับโจทก์จึงมีผลสมบูรณ์ผูกพันที่ดินที่จำนองไว้ทั้งหมดทุกแปลง ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอกันส่วน และกรณีนี้เป็นเรื่องการจัดการสินบริคณห์ มิใช่เรื่องการชำระหนี้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่าเป็นหนี้ร่วมที่จะต้องใช้หนี้จากสินบริคณห์และสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘๐
พิพากษากลับให้ยกคำร้องของผู้ร้อง.