คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าเมื่อ พ.ศ. 2461 โจทก์ได้แต่งงานกับขุนกิจการลิขิต ๆ ได้นางเรณีมารดาจำเลยเป็นภรรยาอีกคนหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2470 เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2477 นางพลอยมารดาขุนกิจการลิขิตได้ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 1087พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้ขุนกิจการลิขิตทรัพย์ดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ต่อมาขุนกิจการลิขิตได้ในชื่อจำเลยร่วมในโฉนด ต่อมาขุนกิจการลิขิตตายโจทก์ขอรับทรัพย์สินสมรสส่วนของโจทก์ จำเลยปฏิเสธอ้างว่าขุนกิจการลิขิตได้ทำพินัยกรรมยกให้จำเลยทั้งหมดแล้วโจทก์จึงมาฟ้องให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินโฉนดดังกล่าวแก่โจทก์ 2 ส่วน ราคา 100,000 บาท
จำเลยให้การว่าเป็นบุตรขุนกิจการลิขิตกับนางเรและเป็นผู้ได้รับมรดกที่ดินที่โจทก์ฟ้อง ที่ดินพิพาทนี้นางพลอยยกให้ขุนกิจการลิขิตภายหลังที่ขุนกิจการลิขิตได้หย่ากับโจทก์แล้ว จึงไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของขุนกิจการลิขิต ๆ ลงชื่อจำเลยในโฉนด ทำถูกต้องตามกฎหมาย
ในการพิจารณา คู่ความตกลงตั้งประเด็นให้ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์กับขุนกิจการลิขิตได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายลักษณะผัวเมียหรือไม่ ถ้าหย่าขาดกัน โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องจากจำเลย ให้ศาลยกฟ้องถ้าไม่ได้หย่าขาดกัน จำเลยยอมชำระเงินให้โจทก์ 60,000 บาท
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังต้องกันว่า ขุนกิจการลิขิตกับโจทก์หย่าขาดจากกันแล้ว จึงพิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์กับขุนกิจการลิขิตได้ทำหนังสือหย่ากันขึ้นหนึ่งฉบับ ลงชื่อโจทก์กับขุนกิจการลิขิต ๆ ได้นำหนังสือหย่าออกแสดงต่อญาติมิตรและนางพลอยมารดาขุนกิจการลิขิตได้รู้เห็นขณะทำหนังสือหย่าด้วย จึงเป็นหนังสือหย่าที่สมบูรณ์ตามกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่ 65 แล้วพิพากษายืน