โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นภรรยาและมีบุตรยังเป็นผู้เยาว์ด้วยกัน ๑ คนจำเลยประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หมิ่นประมาทโจทก์ และกระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความสัมพันธ์แห่งการเป็นคู่ครอง ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดกัน และให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์
จำเลยให้การปฏิเสธและฟ้องแย้ง โดยฟ้องแย้งข้อหนึ่ง ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนอำนาจปกครองบุตรของโจทก์ ให้ตกเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว
ศาลชั้นต้น (ศาลแพ่ง) รับคำให้การและฟ้องแย้งไว้แล้วครั้นในวันชี้สองสถานเห็นว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอให้ศาลสั่งเพิกถอนอำนาจปกครองของโจทก์ให้ตกเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวนั้น จำเลยจะฟ้องที่ศาลแพ่งไม่ได้เพราะจำเลยไม่ได้ฟ้องหย่าด้วย ตกอยู่ในอำนาจศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางที่จะพิจารณาพิพากษา ที่ศาลรับฟ้องแย้งโจทก์นี้ไว้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดพลาด จึงเพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้องแย้งข้อหาฐานนี้เป็นไม่รับ จำหน่ายคดีจำเลยเฉพาะข้อหาฐานนี้ ให้จำเลยไปฟ้องยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาว่า เมื่อโจทก์ฟ้องหย่าแล้ว จำเลยก็ชอบที่จะฟ้องแย้งในศาลเดิมขออำนาจปกครองบุตรมาด้วยได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๐๒ วรรค ๒ จะมีความหมายว่า ศาลที่พิพากษาคดีฟ้องหย่ามีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่าใครเป็นผู้สมควรปกครองบุตรได้ก็จริง แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๗ วรรค ๒ ก็บัญญัติให้อำนาจปกครองบุตรอยู่แก่บิดา อำนาจปกครองจะอยู่แก่มารดาได้ต่อเมื่อมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๓๘ และโดยเฉพาะในกรณีตามมาตรา ๑๕๓๘(๖) ที่ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่แก่มารดา นั้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๔๙๔ แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๖๓ลงวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๑๕ ข้อ ๑ ให้คดีแพ่งที่ฟ้องเกี่ยวกับผู้เยาว์ซึ่งจะต้องบังคับใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๘(๖) อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชน ฉะนั้น ฟ้องแย้งที่ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรของโจทก์ผู้เป็นบิดา โดยให้ตกเป็นของจำเลยผู้เป็นมารดา จึงเป็นคำฟ้องที่อยู่ในอำนาจของศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง