โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 1 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
จำเลยให้การว่า โจทก์มิใช่ลูกจ้างประจำของจำเลยที่ 1 แต่เป็นเพียงพนักงานทดลองปฏิบัติงาน จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะผลการทดลองปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่น่าพอใจ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับกันว่า เอกสารทั้งหลายที่คู่ความทั้งสองฝ่ายส่งศาล (น่าจะหมายถึงเอกสารท้ายคำให้การสำหรับฝ่ายจำเลย)ท ถูกต้องตรงตามต้นฉบับใช้เป็นพยานหลักฐานได้ โจทก์แถลงรับว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชยเท่ากับสามเท่าของเงินเดือนแล้ว ศาลแรงงานกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานคู่ความทั้งสองฝ่าย
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ตามคำสั่งที่78/2527 เอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำให้การ จำเลยบรรจุโจทก์เป็นพนักงานทดลองปฏิบัติงานกับตามรายงานการประชุมครั้งที่ 15/2528เอกสารหมายเลข 6 ท้ายคำให้การ ระเบียบวาระที่ 3 ที่มีมติว่า1) ไม่อนุมัติการบรรจุโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งตามที่จ้างไว้ 2) มอบให้ผู้อำนายการของจำเลยที่ 1 ดำเนินการแจ้งให้โจทก์ได้รับทราบและขอให้ลาออก หรือพิจารณาเลิกจ้าง 3) เนื่องจากโจทก์ทดลองปฏิบัติงานในฐานะพนักงานของจำเลยที่ 1 มาครบ 1 ปี จึงอนุมัติให้เลื่อนขั้นเงินเดือนให้ 1 ขั้น ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2528ด้วยข้อเท็จจริงตามที่กล่าวข้างต้น ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าตลอดเวลา 1 ปีที่โจทก์ทำงานกับจำเลย โจทก์อยู่ในฐานะผู้ทดลองปฏิบัติงาน เมื่อจำเลยเห็นว่าการทดลองปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่พอใจ จำเลยมีสิทธิที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหาย จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินตามคำฟ้องแก่โจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลำีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามประกาศกระทรวงหมาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46วรรคท้าย ที่ว่า "...ลูกจ้างประจำที่นายจ้างแจ้งให้ทราบเป็นหนังสือแต่แรกว่าให้ทดลองปฏิบัติงาน..." ด้วยข้อกำหนดดังกล่าวลูกจ้างที่ทดลองปฏิบัติงานจึงอาจเป็นลูกจ้างประจำได้ แต่ก็ยังหาใช่เป็นลูกจ้างประจำสมบูรณ์อันจะพึงมีสิทธิตามกฎหมายเสียทีเดียวเยี่ยงลูกจ้างประจำโดยทั่วไปไม่ โจทก์คงเป็น "ลูกจ้างที่ทดลองปฏิบัติงาน" ซึ่งนายจ้างอาจมีสิทธิเลิกจ้างลูกจ้างเสียได้ในระหว่างทดลองปฏิบัติงานโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 493/2525คดีระหว่าง นายสุธรรม เอี้ยวสกุล โจทก์ บริษัทเอ็มไพร์ เอ็น.ที.จำกัด กับพวก จำเลย และตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 46วรรคท้าง นั้นเองที่ว่า นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างประจำที่ทดลองปฏิบัติงานในระยะเวลาที่แจ้งให้ทราบเป็นหนังสือแต่แรกว่าให้ทดลองปฏิบัติงานและยังอยู่ในเวลานั้น ซึ่งความที่ว่ามาแล้วนั้นสนุบสนุนให้เห็นว่า ลูกจ้างประจำที่ทดลองปฏิบัติงานมิใช่ "ลูกจ้างประจำ"ที่สมบูรณ์เสียทีเดียว ตามข้อบังคับฯ เอกสารหมายเลข 4 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับฉบับก่อน ๆ อันมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่พิพาทกันนี้ ข้อ 6 ทวิ มีความว่า การบรรจุบุคคลเข้าทำงานเป็นพนักงานตามข้อ 6 (ซึ่งรวมถึงรองผู้อำนายการด้วย) ต้องมีการทดลองปฏิบัติหน้าที่การงานเป็นเวลาหกเดือนก่อน ตามวรรคสอง หลังจากทดลองปฏิบัติหน้าที่การงานหกเดือนแล้ว ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุอาจสั่งให้ออกจากงานได้ หรืออาจสั่งบรรจุได้ หรืออาจสั่งให้ทดลองปฏิบัติการงานต่อไปอีกไม่เกินสามเดือนก็ได้ ผู้ทดลองปฏิบัติงานในตำแหน่งระดับ 7 หรือเทียบเท่าขึ้นไป (โจทก์ทดลองปฏิบัติงานในระดับ 9)คณะกรรมการองค์การเหมืองแร่ในทะเลอาจมีมติเกี่ยวกับการสั่งบรรจุการสั่งให้ออกจากงาน หรือการทดลองปฏิบัติหน้าที่การงานต่อไปอีกระยะหนึ่งเป็นการเฉพาะรายก็ได้ และตามข้อ 6 การบรรจุและการแต่งตั้งพนักงานตำแหน่งรองผู้อำนาจการเช่นโจทก์นี้ต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการองค์การเหมืองแร่ในทะเลก่อน เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้ว ผู้อำนายการจึงจะสั่งบรรจุได้ จากข้อ 6 ทวิวรรคแรก ประกอบกับรายงานการประชุมฯ เอกสารหมายเลข 6 ท้ายคำให้การ ระเบียบวาระที่ 3 ตามที่ศาลแรงงานกลางยกขึ้นวินิจฉัยศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มิใช่ "พนักงาน" ตามบทนิยามของข้อบังคับฯเอกสารหมายเลข 2 ท้ายคำให้การ ข้อ 1 อันจะถือได้ว่าโจทก์เป็น"ลูกจ้างประจำ" ตามความหมายที่โจทก์อุทธรณ์...
อุทธรณ์ข้อสองที่ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม คดีปรากฏเหตุที่ศาลแรงงานกลางมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ควรให้พิจารณาประเด็นข้อ 2 เสียใหม่..."
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาตามนัยที่ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ นอกจากสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.