โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน ม.ค.80-0001 มีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2527 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ไปตามถนนผดุงวิถีด้วยความประมาทเลินเล่อ และขับเข้าไปในช่องทางเดินรถที่โจทก์ขับรถจักรยานยนต์สวนมาเป็นเหตุให้เฉี่ยวรถจักรยานยนต์ของโจทก์ล้มลงและโจทก์ได้รับอันตรายสาหัสต้องเสียค่ารักษาพยาบาล ค่าพาหนะเป็นเงิน 15,000 บาท ค่าเจ็บปวดทุกข์ทรมาน เสียนิ้วมือ แขนพิการไม่สามารถประกอบอาชีพได้คิดเป็นเงิน 70,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งหมด 85,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 85,000บาท แก่โจทก์จำเลยที่ 2 ให้การว่า ผลคดียังไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมโดยไม่ได้แสดงรายการค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลให้ชัดแจ้งค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับความเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานไม่ควรเกิน2,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลไม่ควรเกิน 2,000 บาท ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ทิ้งฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 51,547 บาทแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นตามคำฟ้องคำให้การของจำเลยที่ 2 และข้อนำสืบของคู่ความทั้งสองฝ่ายฟังยุติได้ว่าเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2527 เวลาประมาณ 18 นาฬิกาขณะโจทก์ขับรถจักรยานยนต์มาตามถนนผดุงวิถีมุ่งหน้าไปทางหอนาฬิกาในตัวอำเภอเมืองมหาสารคาม มีจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุก10 ล้อ หมายเลขทะเบียน ม.ค.80-0001 ของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 สวนทางมาและชนกับรถจักรยานยนต์ของโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกชนกับรถจักรยานยนต์ของโจทก์โดยประมาทอันเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อโจทก์หรือไม่โจทก์มีตัวโจทก์และนายธงชัย สิงห์มีศรี เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่าขณะโจทก์และนายธงชัยขับรถจักรยานยนต์คนละคันตามกันไปจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกสวนทางมาและหักหลบรถสามล้อที่จอดอยู่ริมถนนล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถของโจทก์และนายธงชัยนายธงชัยซึ่งขับรถนำหน้าหักรถหลบไปได้ ส่วนรถโจทก์ซึ่งตามหลังมาหลบไม่ทันจึงถูกรถยนต์บรรทุกชน เป็นเหตุให้โจทก์ตกจากรถไปสลบอยู่ใต้ท้องรถยนต์บรรทุกได้รับบาดเจ็บ ส่วนจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์บรรทุกหลบหนีไป ศาลฎีกาเห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเดือนกรกฎาคมเวลาประมาณ 18 นาฬิกา เป็นเวลาพลบค่ำ แม้จะไม่สว่างมาก แต่ก็พอมีแสงสว่างอยู่บ้าง และก็ได้ความจากโจทก์และนายธงชัยว่ารถของโจทก์ นายธงชัยและจำเลยที่ 1 ต่างก็เปิดไฟหน้ารถดังนั้นตรงบริเวณที่เกิดเหตุจึงน่าจะมีแสงสว่างพอมองเห็นกันได้ชัด ที่โจทก์และนายธงชัยว่าเห็นรถยนต์บรรทุกแล่นล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถของตน จึงมีเหตุผลน่าเชื่อ พิจารณาแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำขึ้นแล้ว ปรากฏว่าถนนกว้าง 7 เมตร เส้นแบ่งกึ่งกลางถนนจะต้องกว้างด้านละ 3.5 เมตรแต่จากริมถนนของช่องทางเดินรถของโจทก์ไปยังจุดชนมีระยะเพียง 3 เมตร จุดชนจึงต้องอยู่ในช่องทางเดินรถของโจทก์ เห็นได้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถของโจทก์ถึงครึ่งเมตร รถจึงได้เกิดชนกัน ซึ่งสอดคล้องกับที่โจทก์นำสืบ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ลอย ๆ ว่าผลคดียังไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิด จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 2 รับหรือปฏิเสธฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรค 2 จำเลยที่ 2จึงไม่มีประเด็นนำสืบ และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์มีส่วนผิดอยู่ด้วยก็มิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงไม่เป็นประเด็นและไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลและน้ำหนักน่าเชื่อ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์โดยประมาท เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าความเจ็บปวดทุกข์ทรมานนั้นไม่ชอบ เนื่องจากโจทก์เรียกและศาลได้พิพากษาให้จำเลยที่ 2ชดใช้ค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้และค่าขาดการงานแล้ว เป็นการกำหนดค่าเสียหายซ้ำซ้อนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าค่าเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานเป็นความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินอย่างหนึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 ค่าเสียหายส่วนนี้ไม่เป็นการซ้ำซ้อนกับค่ารักษาพยาบาล ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้และค่าขาดการงานที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว"
พิพากษายืน