โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2537 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถขุดไฮดรอลิค 1 คัน จากโจทก์ในราคา 3,050,000 บาทจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 300,000 บาท ส่วนค่าเช่าซื้อที่ค้างจำนวน 2,750,000 บาท ตกลงจะผ่อนชำระเป็นงวดมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม นับแต่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อและรับมอบรถไปจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ 5 งวด และงวดที่ 6 บางส่วนรวมเป็นเงินทั้งสิ้น1,018,750 บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์เรื่อยมา ต่อมาเมื่อวันที่14 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ได้ยึดรถคันเช่าซื้อกลับคืนมา และได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 รถคันที่เช่าซื้อนี้เป็นรถใหม่ การที่จำเลยที่ 1 นำรถของโจทก์ไปใช้ประโยชน์ถึง 2,956 ชั่วโมง โจทก์ขอคิดค่าขาดประโยชน์จากจำเลยที่ 1เป็นเงินจำนวน 500,000 บาท จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันและลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดชอบชดใช้เงินจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ในเงินต้นจำนวน 500,000 บาท นับแต่วันนัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถขุดไฮดรอลิคจากโจทก์ในราคา3,050,000 บาท และได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ไปแล้ว 1,018,750 บาท จริง ระหว่างที่จำเลยที่ 1 ใช้รถคันที่เช่าซื้อนี้ จำเลยที่ 1 ได้ใช้ด้วยความระมัดระวังไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รถคันที่เช่าซื้อหากจะเสียหายก็ไม่น่าจะเกิน 10,000 บาท และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ระหว่างพิจารณาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกค้าของโจทก์ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถขุดไฮโดรลิคไปจากโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์และทำให้รถของโจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถขุดไฮโดรลิคดังกล่าวไปจากโจทก์จริง แต่ได้ใช้รถอย่างระมัดระวังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหาย หากจะเสียหายก็ไม่น่าจะเกิน 10,000 บาท ดังนี้ ประเด็นแห่งคดีจึงคงมีเฉพาะในเรื่องค่าเสียหายเท่านั้น ส่วนปัญหาในเรื่องการทำสัญญาเช่าซื้อฟังได้เป็นยุติตามที่จำเลยที่ 1 ให้การรับแล้วว่า ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์จริงโจทก์จึงไม่ต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 รับแล้วนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยเห็นว่านายเลิศศักดิ์ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้นายเลิศศักดิ์กระทำการแทนโจทก์ จึงไม่ชอบ
ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ค่าเสียหายมีเพียงใด ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยไว้ แต่โจทก์ได้ยกประเด็นนี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาทั้งได้สืบพยานไว้แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไป โดยไม่ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยใหม่ และเห็นว่าโจทก์ฟ้องว่า เมื่อโจทก์ติดตามยึดรถคืนมาแล้วปรากฏว่าเครื่องยนต์และสีได้รับความเสียหายต้องทำสีใหม่ทั้งคัน คิดเป็นเงินค่าซ่อม 100,000 บาท และจำเลยที่ 1 นำรถของโจทก์ไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบในระหว่างผิดสัญญาเช่าซื้อและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้วถึง 2,956 ชั่วโมง โจทก์ขอคิดค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 500,000 บาท ขอให้จำเลยชำระค่าขาดประโยชน์จำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยไม่ได้เรียกค่าเสียหายในการที่เครื่องยนต์และสีรถเสียหายด้วย การที่โจทก์นำสืบถึงค่าเสียหายในเรื่องดังกล่าวจึงเป็นการนอกคำขอของโจทก์ ศาลไม่อาจพิพากษาให้ได้ จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าค่าเสียหายในส่วนนี้เพียงใด
คงมีปัญหาวินิจฉัยในเรื่องค่าเสียหายในการขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ในระหว่างผิดสัญญาเท่านั้น จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้ครอบครองรถที่เช่าซื้อประมาณ 11 เดือนเศษ และค้างชำระค่างวดประมาณ 6 งวด เท่ากับจำเลยที่ 1ใช้รถของโจทก์โดยมิชอบประมาณ 6 เดือน และรับว่าวันหนึ่ง ๆ รถทำงานได้ประมาณ 8 ชั่วโมง ตักดินได้ประมาณ 30 คันรถ ทำรายได้วันละประมาณ 9,000 บาท แต่เมื่อหักค่ารถขนดินแล้วจะเหลือรายได้ประมาณคันละ 80 บาท แต่ไม่ได้ทำงานทุกวัน หากเป็นหน้าฝนจะทำงานได้เป็นบางช่วง ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นความจริง ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้รถถึง 2,956 ชั่วโมง คิดเป็นเงินค่าเช่าชั่วโมงละ 900 บาท นั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์คิดคำนวณมาจากฐานใดคงมีแต่คำเบิกความของนายสันติ ศิริมา ลอย ๆ เพียงปากเดียวจึงรับฟังมิได้ อย่างไร ก็ดีการที่จำเลยที่ 1 ครอบครองและใช้รถของโจทก์โดยมิชอบศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ตามสมควร เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์และพฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีนี้แล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 300,000 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการไม่จำกัดความรับผิดและจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบด้วย
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จกับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4