โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2530 จำเลยได้หลอกลวงนางอัจฉรีย์ วัชรพิบูลย์ ผู้เสียหาย ด้วยการนำเช็คธนาคารกรุงไทยจำกัด สาขาปักธงชัย ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2530 สั่งจ่ายเงินจำนวน 400,000 บาท มีนายอาทิตย์ เชิดไทยลงลายมือสั่งจ่าย โดยแจ้งว่านายอาทิตย์ เชิดไทย สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้จำเลย จำเลยจึงได้นำเช็คดังกล่าวมาชำระหนี้ให้ผู้เสียหาย ซึ่งความจริงเป็นเช็คของจำเลยเอง และไม่มีลายมือชื่อของนายอาทิตย์ ลงไว้แต่อย่างใด จากการหลอกลวงดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นเช็คที่นายอาทิตย์สั่งจ่ายโดยชอบ และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม2530 ผู้เสียหายนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาปักธงชัย ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ตัวอย่างลายมือชื่อไม่เหมือนกับที่ให้ไว้กับธนาคารทั้งนี้โดยจำเลยออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และโดยการหลอกลวงของจำเลยดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายต้องสูญเสียสิทธิที่จะได้รับเงินชำระหนี้ จำนวน 400,000 บาท จากจำเลย เหตุเกิดที่ตำบลบ้านสวน อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า ฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานฉ้อโกงสมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายโดยนำเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 400,000 บาท มามอบชำระหนี้ให้ผู้เสียหาย และแจ้งว่าเช็คดังกล่าวมีนายอาทิตย์ เชิดไทย เป็นผู้สั่งจ่าย แต่ความจริงเป็นเช็คของจำเลยเอง นายอาทิตย์ไม่ได้เป็นผู้สั่งจ่าย ต่อมาธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค จำเลยได้ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และโดยการหลอกลวงของจำเลยดังกล่าวทำให้ผู้เสียหายต้องสูญเสียสิทธิที่จะได้รับเงินชำระหนี้จำนวน400,000 บาท จากจำเลย ฟ้องโจทก์เช่นนี้ไม่อาจเข้าใจได้ว่าหนี้ที่จำเลยนำเช็คมาชำระให้ผู้เสียหายนั้นได้เกิดขึ้น เนื่องมาจากการหลอกลวงของจำเลยและเป็นเหตุให้จำเลยได้ทรัพย์สินใดไปจากผู้เสียหายหรือเป็นหนี้ที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว หากเป็นหนี้ที่มีอยู่แต่เดิม การที่จำเลยนำเช็คมาชำระหนี้แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับชำระหนี้ก็จะเป็นกรณีผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะถือว่าจำเลยได้ทรัพย์สินไปจากผู้เสียหายดังนี้เห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ปรากฏชัดว่า จากการหลอกลวงของจำเลย จำเลยได้ทรัพย์สินอะไรไปจากผู้เสียหาย หรือทำให้ผู้เสียหายต้องถอนทำลายเอกสารสิทธิ อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ซึ่งเป็นสาระสำคัญที่ต้องบรรยายมาในฟ้องพอสมควรที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)จึงลงโทษจำเลยตามฟ้องโจทก์ไม่ได้ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยข้อฎีกาของจำเลยอีกต่อไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย"
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์