โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจนำยาเส้นราคา ๔๓๒ บาท และยาสูบซิกาแรตเกล็ดทอง ๑๐ ห่อ ราคา ๓๕๐ บาท อันเป็นของต้องจำกัดและต้องห้ามออกนอกราชอาณาจักร จะเข้าไปประเทศลาว โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษและริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมิได้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร คงมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. ๒๔๘๖ มาตรา ๓๐, ๔๐, ๔๒ พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๒ มาตรา ๓ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐ ต้องระวางโทษ ๒ ใน ๓ ปรับจำเลย ๒๐๐ บาท ริบยาสูบของกลาง ส่วนยาเส้นให้คืนจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะที่ให้ริบยาสูบ เป็นไม่ริบ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจท์ฎีกาขอให้ริบยาสูบเสียด้วย
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๗ ซึ่งบัญญัติเรื่องการริบทรัพย์สิน มิได้บัญญัติให้ริบเฉพาะทรัพย์ที่นำมาอยู่ในอำนาจของศาลหรือเจ้าพนักงานเท่านั้น แต่ได้มุ่งหมายถึงทรัพย์ท่บุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำผิดเป็นสาระสำคัญ แม้ทรัพย์ดังกล่าวจะไม่มีอยู่ที่เจ้าหน้าที่ ศาลก็สั่งริบได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๗
เห็นได้ว่า ที่โจทก์ขอให้ริบของกลางซึ่งมุ่งถึงยาสูบที่คืนให้จำเลยไปแล้วนั้นด้วย หาได้ประสงค์จะให้ริบแต่เฉพาะยาเส้นของกลางซึ่งเจ้าพนักงานรักษาไว้ไม่ การที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่ายาสูบคืนให้จำเลยไปแล้วนั้น ก็คงเพียงแต่ประสงค์จะให้ศาลทราบว่ายาเส้นนั้นเจ้าพนักงานรักษาไว้ ส่วนยาสูบนั้นเจ้าพนักงานคืนให้จำเลยไปแล้ว เป็นการแจ้งให้ทราบถึงการครอบครองรักษา แต่ยังคงถือว่าเป็นยาสูบที่ใช้ในการกระทำผิดและขอให้ศาลสั่งริบนั่นเอง
พิพากษาแก้ ให้ริบยาสูบของกลางตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น