โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัดจำเลยที่ 1 เป็นกรมในกระทรวงการคลัง มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร จำเลยที่ 2 เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2526 โจทก์ได้ย้ายสำนักงานจากบ้านเลขที่ 965 ศูนย์การค้าสยาม ชั้น 4 ห้อง 418ถนนพระราม 1 แขวงปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ไปอยู่ ณ 1126/1อาคารวาณิช ชั้น 4 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตพญาไทกรุงเทพมหานคร ได้ประกาศให้บุคคลทั่วไปทราบ หลังจากที่ได้ย้ายสำนักงานแล้ว ในการยื่นรายการภาษีต่อจำเลยที่ 1 ทุกครั้งโจทก์ได้แจ้งว่าโจทก์ได้อยู่ ณ ที่อยู่ใหม่โดยตลอด ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ทราบดีอยู่แล้ว โจทก์ได้ทราบในภายหลังว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำการส่งหมายเรียกและหนังสือแจ้งการประเมินไปยังที่อยู่เก่าของโจทก์ ทั้ง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1เห็นอย่างชัดแจ้งว่าประตูอาคารดังกล่าวถูกปิดตาย ไม่มีผู้ใดประกอบกิจการอยู่ในสถานที่ดังกล่าว เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1ก็ยังขืนทำการปิดหมายและหนังสือแจ้งการประเมินไว้ ณ ที่ทำการเก่าของโจทก์ การส่งคำประเมินดังกล่าว ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้ส่งยังที่อยู่ที่แท้จริงของโจทก์ โจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2534 ขอทราบถึงข้อความในหนังสือประเมินจึงได้ทราบว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้ทำการประเมินเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ตามหนังสือแจ้งรายการประเมินรวม 5 ฉบับโจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินสองรายการแรกและเห็นว่า การแจ้งการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2534 ก่อนที่โจทก์จะทำการยื่นอุทธรณ์ประเมินได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ให้ยื่นขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไว้ก่อนเพราะทางจำเลยที่ 1 ถือว่าการส่งหมายของจำเลยที่ 1 ยังที่อยู่เก่าของโจทก์นั้นเป็นการถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์คัดค้านว่าการส่งหมายดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายจึงไม่น่าที่จะต้องขอขยายระยะเวลา แต่เจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ไม่ยอม และจะไม่รับพิจารณาเรื่องให้ โจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาและได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 1ดังกล่าวแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 จากจำเลยที่ 1สั่งไม่ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ซึ่งมีผลเป็นการไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ ตามกฎหมายและระเบียบปฏิบัติจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ในการพิจารณารับอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีอากรเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณา แต่จำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ กล่าวคือโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้ทราบข้อความและรายละเอียดของการประเมิน การยื่นอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการชอบด้วยกฎหมายอย่างชัดเจน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมรับเพราะจำเลยที่ 1 ถือเอาการส่งหมายยังที่อยู่เก่าของโจทก์เป็นเกณฑ์ จำเลยที่ 1 ได้กระทำการต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วข้างต้นในนามคณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานและเป็นตัวแทน จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับอุทธรณ์ของโจทก์ เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาต่อไปตามกฎหมาย หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษา หรือคำสั่งศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางงดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้ววินิจฉัยว่าตามคำฟ้องโจทก์มิได้ยืนยันว่าการย้ายสำนักงานไปอยู่ที่ใหม่โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการ ที่ตั้งสำนักงานต่อสำนักงานทะเบียนพาณิชย์ ถือได้ว่าโจทก์ยังมีสำนักงานอยู่ที่เดิมตามที่ได้จดทะเบียนไว้ การส่งหมายเรียกและหนังสือแจ้งการประเมิน ณ สำนักงานเดิมจึงชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 8โจทก์อุทธรณ์การประเมินเมื่อล่วงเลยมา 6 ปีเศษ นับแต่วันที่ถือว่าเป็นอันได้รับหนังสือแจ้งการประเมินและอธิบดีกรมสรรพากรไม่อนุมัติให้ขยายกำหนดเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่อุทธรณ์การประเมินได้ และไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีก พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์ยืนยันว่า การส่งหมายเรียกและหนังสือแจ้งการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ได้ส่งยังสำนักงานแห่งใหม่ของโจทก์ผลตามกฎหมายก็คือโจทก์ยังไม่ได้รับแจ้งการประเมิน กำหนดเวลาให้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งประกอบด้วยอธิบดีหรือผู้แทน ผู้แทนกรมอัยการ และผู้แทนกรมมหาดไทยภายในสามสิบวัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินจึงยังไม่เริ่มนับเมื่อโจทก์ได้ทราบผลการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินเอกสารท้ายฟ้องเลข 3 แล้ว โจทก์ย่อมอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ทันที เพราะถือว่ายังไม่พ้นกำหนดเวลาที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 30(1)(ก) บัญญัติไว้ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ยืนยันว่า โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินแล้วเมื่อวันที่8 สิงหาคม 2534 พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายเวลาการอุทธรณ์ตามที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แนะนำ แต่จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งแก่โจทก์เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 ว่า สั่งไม่ขยายเวลาอุทธรณ์มีผลเป็นการที่จำเลยที่ 1 ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยที่ 1กระทำในนามของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานและตัวแทนจึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับอุทธรณ์ของโจทก์เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัย จึงมีปัญหาว่า ศาลจะบังคับจำเลยทั้งสามตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ได้หรือไม่ ประมวลรัษฎากร มาตรา 30 บัญญัติว่า "ในการอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรที่อำเภอไม่มีหน้าที่ประเมิน ให้อุทธรณ์ภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมินโดยให้อุทธรณ์ตามเกณฑ์และวิธีการดังต่อไปนี้
(1) เว้นแต่ในกรณีห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 21 หรือ มาตรา 25
เจ้าพนักงานประเมินผู้ทำการประเมินมีสำนักงานอยู่ในเขตจังหวัดพระนคร ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งประกอบด้วยอธิบดีหรือผู้แทน ผู้แทนกรมอัยการและผู้แทนกรมมหาดไทย
(2) เว้นแต่กรณีห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 33 ให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์" ดังนั้นการอุทธรณ์การประเมิน ตามกรณีในคำฟ้องของโจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว จึงต้องยื่นต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งประกอบด้วยอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้แทน ผู้แทนกรมอัยการและผู้แทนกรมมหาดไทย และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งประกอบด้วยบุคคลดังกล่าวแล้วเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยที่ 1หามีหน้าที่ในการสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 ให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ได้ และตามคำฟ้องของโจทก์หาได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นผู้มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่มีเหตุที่จะมาฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ให้รับอุทธรณ์ของโจทก์การที่โจทก์ตีความเอาการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่แจ้งแก่โจทก์ว่าไม่ขยายเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์มีผลเป็นการที่จำเลยที่ 1ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 กระทำในนามของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นประธานและตัวแทนจึงต้องรับผิดร่วมกันนั้น มีผลเท่ากับโจทก์กล่าวอ้างว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบนั่นเอง แม้จะเป็นดังกรณีที่โจทก์เข้าใจเอาเองดังกล่าวก็ไม่มีเหตุจำเป็นที่โจทก์จะต้องมาฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 2ให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ตามคำขอท้ายฟ้องอีก เพราะหากผลการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเท่ากับคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์สั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินต่อศาลได้ อำนาจฟ้องของโจทก์เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ไม่จำต้องวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของโจทก์ต่อไป
พิพากษายืน